ฉีดวัคซีนคุณภาพแย่สุด กับติดโควิดแล้วอาการดีควรเสี่ยงทางไหน?

ฉีดวัคซีนคุณภาพแย่สุด กับติดโควิดแล้วอาการดีควรเสี่ยงทางไหน?

ผมใช้เวลาเขียนบทความนี้นานกว่าปกติ เนื่องจากข้อมูลและตัวเลขที่โต้แย้งกันไปกันมาระหว่างฝ่ายที่เชียร์วัคซีนยี่ห้อต่าง ๆ

 มีตัวเลขหลายประเภท และตัวเลขประเภทเดียวกันจากหลายแหล่งก็มีค่าไม่ตรงกัน เหตุผลอีกประการคือกระแสของทั้งฝ่ายเชียร์ให้ฉีดและเชียร์ให้ไม่ฉีดที่ปะปนระหว่างเหตุผลด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และการเมืองในประเทศ จนไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ สุดท้ายผมจึงวางข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และเขียนบทความนี้จากความคิดและตรรกะที่ใช้ในการตัดสินใจให้กับตัวเองและแนะนำคนที่ผมรักล้วน ๆ ซึ่งหากคิดเห็นสอดคล้องหรือต่างกัน ผมยินดีรับข้อคิดเห็นส่งมาหาผมได้เสมอนะครับ

จากการทำงานด้านข้อมูลมาในหลากหลายโดเมน ผมมองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการติดโควิดและผลกระทบที่เกิดจากการติดโควิด เป็นเรื่องของการประเมินอัตราของความน่าจะเป็น ความเสี่ยง และการถ่วงน้ำหนักของปัจจัยต่าง ๆ เป็นหลัก เวลาเสพข่าวหรืออ่านข้อมูลใด ๆ หากเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ผมจะตั้งใจกรองข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเฉพาะด้านนั้น (เช่น ด้านการแพทย์ ด้านการเงิน) และลดทอนน้ำหนักของแหล่งที่คิดว่าไม่น่าเชื่อถือในด้านนั้น ๆ ออกไปเสีย จากนั้นพยายามทำความเข้าใจกับคำจำกัดความ (Definition) ของตัวเลขที่แสดงให้ถ่องแท้ ประกอบกับการอ่านลึกเข้าไปว่าแหล่งที่เขียนนี้ พยายามบิดเบือนตัวเลขเพื่อจุดประสงค์ใด ๆ หรือไม่

เพราะ “ศาสตร์แห่งการโกหกด้วยสถิติและข้อมูล” ที่ผมเคยเขียนไว้ในบทความทางกรุงเทพธุรกิจนี้ เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ทุกครั้งเมื่อมีผู้ต้องการชี้นำ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่ผลเสียที่ตามมาคือผู้ถูกชี้นำที่รู้ไม่เท่าทันอาจตัดสินใจในทางเลือกที่ไม่เหมาะสมกับสภาพหรือเงื่อนไขเฉพาะตัวของตนเอง และสุดท้ายผู้ที่ชี้นำโดยการบิดเบือนก็มักได้รับผลกระทบคือความเชื่อมั่นที่ผู้อื่นเคยมอบให้จะลดลงจนเกิดผลเสียกลับมาหาตนเองเช่นกัน

หนึ่งในการบิดเบือนด้วยสถิติที่ใช้บ่อย คือการนำตัวเลขแต่ละตัวที่แท้จริงแล้วมิได้มีความสัมพันธ์กัน มาเชื่อมโยงหรือปะปนกัน ในรูปแบบที่พยายามจะตีความชี้นำ อย่างกรณีของ Indicator เพื่อชี้วัดคุณภาพของวัคซีนว่าดีหรือแย่นั้น เราต้องแยกให้ชัดระหว่าง “อัตราการกระตุ้นภูมิ”, “อัตราการยับยั้งการติดเชื้อ”, และ “อัตรายับยั้งอาการป่วยรุนแรง” ซึ่งการนำเสนอในบางแหล่งอาจนำมาปะปนกัน ทำให้คนอ่านตีความผิดและกระทบต่อการตัดสินใจที่เหมาะสมได้ (ซึ่งตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการแพ้วัคซีนก็ต้องไปวางไว้อีกแกน) เป็นต้น

เมื่อเข้าใจแล้วว่า Indicator แต่ละตัวหมายความว่าอย่างไร (หรือบางท่านอาจอยากศึกษาลึกไปถึงว่าทำการทดสอบอย่างไรจึงจะได้มา แหล่งใดเป็นผู้ทดสอบ และผลน่าเชื่อถือหรือไม่ ผมก็แนะนำว่าให้ไล่ค้นหาไปจนถึง Source หรือแหล่งต้นทางแรกเลยจะดีที่สุด) และจึงค่อยมาดูสถานการณ์ของตนว่าจะยึด Indicator ตัวใดบ้าง จึงจะถือว่าเป็นตัวเลือกที่คุณภาพดีเหมาะกับสถานการณ์ของเราเอง

            สถานการณ์ความเสี่ยงของแต่ละคนก็ไม่มีทางเท่ากัน ดังนั้นการตัดสินใจจึงไม่เคยเหมือนกัน

บางคนยังคงต้องออกไปทำงานทุกวัน ในขณะที่บางคนสามารถทำงานจากที่บ้านได้

บางคนสามารถประกอบอาหารด้วยตนเอง ในขณะที่บางคนต้องพึ่งพาอาหารที่ปรุงจากมือของคนอื่น

บางคนสามารถเดินทางด้วยรถส่วนตัว ในขณะที่บางคนต้องเจอผู้คนหลากหลายบนระบบขนส่งสาธารณะ

บางคนสามารถเปลี่ยนหน้ากากใหม่ทุกวัน ในขณะที่บางคนต้องซักหน้ากากชิ้นเดิมใช้ซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง

แม้แต่ความสามารถในการซื้อหาเจลแอลกอฮอล์เพื่อนำมาฉีดได้บ่อยครั้งเพียงใดของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

บางคนป่วยแล้วไม่กระทบกับงานสามารถหยุดได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ในขณะที่บางคนถ้าหยุดงานคือรายได้หยุด เดือดร้อนทั้งครอบครัว

บางคนป่วยแล้วอาจอาการดีเหมือนไม่เคยเป็นโรคร้ายแรงอะไร ในขณะที่บางคนป่วยแล้วอาจเจ็บหนัก และไม่รู้ว่าผลข้างเคียงของการเคยรับเชื้อนี้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

            สุดท้ายลองคำนวณจากสถานการณ์ของตัวเรา ว่าเหมาะกับการใช้ Indicator ใด ที่ต้องมี “ค่าที่แย่ที่สุดเท่าไร” จึงจะ “ดีพอ” ในระดับที่เราจะเสี่ยงฉีด (และรอจนเลือกได้) เทียบกับความเสี่ยงจากการติดโควิดแล้วอาการดีที่สุด

            และผมมองว่าการเลือกฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนตัวใด ก็ไม่น่าจะมีความสัมพันธ์กับการเลือกสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลนี้แต่อย่างใด

            ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วเลือกอย่างไร เขียนมาเล่าให้ฟังกันได้นะครับ