กระตุ้นเศรษฐกิจให้สมดุล เติมดีมานด์แล้ว..ต้องพยุงซัพพลายด้วย

กระตุ้นเศรษฐกิจให้สมดุล เติมดีมานด์แล้ว..ต้องพยุงซัพพลายด้วย

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งหนักกว่าทั้งความเร็วในการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อ ซ้ำเติมความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยอีกระลอก!

ส่งผลให้รัฐบาลต้องระดมสรรพกำลัง และออกมาตรการทางเศรษฐกิจจำนวนมากเพื่อเยียวยาประชาชน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ยังคงยึดตามแนวทางของมาตรการเดิม แจกเงินเยียวยา ลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ-ค่าไฟให้ครัวเรือน โดยยังคงมุ่งเป้าช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

เน้นเติมดีมานด์...ด้วยสารพันการเติมเงินเยียวยาและลดค่าครองชีพ

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค. มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งเพื่อระงับยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบล่าสุด ซึ่งประกอบไปด้วยหลากหลายมาตรการ ได้แก่ 

1.โครงการเราชนะ จำนวนกลุ่มเป้าหมายราว 32.9 ล้านคน เป็นการขยายวงเงินช่วยเหลือให้ประชาชนอีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ การใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 กรอบวงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาท 

2.โครงการ ม.33 เรารักกัน จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 9.27 ล้านคน เป็นการขยายเพิ่มวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ มีระยะเวลาการใช้จ่ายสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 กรอบวงเงิน 1.85 หมื่นล้านบาท 

3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จำนวน 13.65 ล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เป้าหมาย 2.5 ล้านคน เพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) 

4.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน คาดว่าจะมีประชาชนร่วมโครงการ 31 ล้านคน คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค.2564) 

5.โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” โดยรัฐสนับสนุน E-Voucher ให้กับประชาชนที่ใช้จ่ายซื้อสินค้า อาหาร และเครื่องดื่ม ค่าบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.2564 และนำ E-Voucher ไปใช้จ่ายในเดือน ส.ค.-ธ.ค.2564 คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการประมาณ 31 ล้านคน ซึ่งเมื่อรวมทุกโครงการแล้ว ก็ไม่มากไม่น้อย 3.8 แสนล้าน สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้

ฝั่งซัพพลายเยียวยา หรือ Soft Loan ก็เป็นแต่ความฝัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินทุน” นั้นเปรียบดังหนึ่งในปัจจัยสี่ของโลกธุรกิจที่หล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และเป็นความหวังของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า ร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลงไป เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” นี้เปรียบเสมือนการต่อท่อออกซิเจนหรือท่อเครื่องช่วยหายใจเพื่อพยุงอาการร่อแร่ของธุรกิจ รักษาบาดแผลและยืดเวลาให้แก่ผู้ประกอบการ ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ ช่วยเสริมสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดให้กับธุรกิจเหล่านี้เพื่อรอเวลาให้กลับมาแข็งแรงดังเดิมได้ในอนาคต

การกู้เงินจากธนาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของธุรกิจไม่สามารถทำแผนธุรกิจไปเสนอได้ เพราะไม่รู้ว่าธุรกิจจะฟื้นตัวได้เมื่อไร และในมุมของธนาคารแล้ว ความเสี่ยงปล่อยกู้เพื่อใช้จ่าย จ่ายเงินลูกจ้าง จึงเป็นไปไม่ได้

ปัญหาของ มาตรการการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากเข้าไม่ถึงสินเชื่อจึงเป็นเรื่องของไก่ก่อนไข่หรือไข่ก่อนไก่ เพราะสินเชื่อนี้ต้องปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งโดยทั่วไปจะเน้นดูแลลูกหนี้ของตัวเอง และเรียงลำดับดูแลลูกหนี้ชั้นดีก่อน เพื่อการบริหารความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียของสถาบันการเงิน การให้กู้ก่อลูกหนี้ทั่วไปถ้าไม่แน่ใจก็พยายามบ่ายเบี่ยงกันไว้ก่อน

ความพยายามของรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการคลายล็อก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน คุยกันตั้งแต่การแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกแรกเดือน มี.ค.2563 จนวันนี้ เดือน พ.ค.2564 ก็ยังคุยกันแต่มาตรการเดิมๆ เพิ่มเติมแค่รายละเอียด แต่วิธีการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงก็ยังไม่เห็นมรรคเห็นผลแต่อย่างใด

เศรษฐกิจเดินได้ด้วยสองขา 'ดีมานด์และซัพพลาย'

ในเชิงนโยบาย รัฐบาลต้องดูทั้งส่วนของดีมานด์และซัพพลาย แต่ที่ผ่านมา การเยียวยาของรัฐบาลยังคงวนเวียนอยู่กับการเติมเงินลดภาระค่าครองชีพทางด้านดีมานด์ และกำลังซื้อของประชาชนเป็นหลัก แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทางด้านชัพพลาย ซึ่งก็คือภาคธุรกิจร้านค้าที่จะต้องเอาตัวรอดกันเอาเอง

ภาครัฐควรต้องเอาจริงเอาจังเร่งรัดออกมาตรการช่วยเหลือพยุงฝั่งซัพพลายออร์ให้ชัดเจน เช่นเดียวกับมาตรการฝั่งดีมานด์ อาทิเช่น 1.สนับสนุนค่าจ้างงานเดิม เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงาน หรือเลิกจ้างซ้ำเติมเศรษฐกิจ 2.การพักชำระหนี้เงินต้นหรือดอกเบี้ย 3.Soft Loan ที่เข้าถึงง่าย กระบวนการขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน 4.ผ่อนผันยืดระยะเวลาการจ่ายภาษีออกไป 5.ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของพนักงาน 

กรณีรัฐบาลญี่ปุ่นที่อัดเงินให้เปล่าให้กับธุรกิจต่างๆ ไม่ให้ปิดตัว และรักษาการจ้างงานไว้ได้ ซึ่งหลายประเทศก็ทำแบบนี้ และจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการไปเติมเงินลดค่าครองชีพด้านเดียว หรืออย่างกรณี ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศโครงการ กองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร (Restaurant Revitalization Fund) สำหรับร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร จะช่วยเหลือร้านอาหารที่สูญเสียรายได้จากการเกิดขึ้นของวิกฤตสุขภาพ สูงสุด 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 312 ล้านบาทต่อธุรกิจ และไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์ โดยเงินดังกล่าวจะต้องถูกใช้ภายในเดือน มี.ค.2566

ท้ายที่สุด รัฐบาลไม่ควรวนเวียนที่การช่วยเหลือทางด้านดีมานด์ และกำลังซื้อของประชาชนเป็นหลัก แต่ควรให้ความสำคัญทางด้านชัพพลาย ซึ่งก็คือภาคธุรกิจร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า ร้านอาหาร นับวันจะหมดลมหายใจกันแล้ว