ทางออกจากวิกฤติคู่ขนาน

ทางออกจากวิกฤติคู่ขนาน

โควิด-19 ระลอก3 ทำให้พวกเราต้องเจอกับวิกฤติสุขภาพและวิกฤติเศรษฐกิจแบบคู่ขนานอีกครั้ง จากการใช้มาตรการควบคุมเชิงพื้นที่ ที่กระทบภาคเศรษฐกิจ

วิกฤติเที่ยวนี้จะดูต่างจากเมื่อปีที่แล้วตรงที่ว่า ตอนนี้โลกมี “วัคซีนโควิด-19” ที่จะมาหยุดวิกฤติคู่ขนานนี้ได้แล้ว เพราะวัคซีนจะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้น และช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง  ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงแล้วสำหรับกรณีของสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป เป็นต้น

ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการมีชีวิตที่ปลอดภัย ย่อมมีมากกว่าต้นทุนวัคซีนหลายเท่า

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้ให้ความเห็นว่า “...ควรเร่งมาตรการจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรรักษาความต่อเนื่องและลดผลกระทบของการระบาด รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป....

นายกรัฐมนตรีของไทยเอง ก็ได้มีดำริให้มีการปรับเปลี่ยนแผนวัคซีนใหม่ โดยให้จัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านโดสแล้ว

ส่วนเรื่องการกระจายวัคซีนนั้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากออกมาช่วยสื่อสารกับสังคมว่า คนทั่วไปและคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนั้นควรจะได้รับการฉีดวัคซีนตามที่ภาครัฐได้จัดหามาให้บริการฟรี โดยไม่ต้องกังวลว่าวัคซีนจะป้องกันได้ไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้หากติดเชื้อภายหลัง

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังดูเหมือนจะไม่เพียงพอ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากจำนวนยอดจองฉีดวัคซีนในต้นเดือนหน้าของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเจ็ดโรคเรื้อรังที่ได้ลงทะเบียนกับหมอพร้อมแล้ว พบว่าก็ยังมีน้อยกว่าจำนวนเป้าหมายรวมที่ได้ตั้งไว้อย่างน่าตกใจ

ทั้ง ๆ ที่บริการฉีดวัคซีนเป็นบริการแบบให้ฟรี และมีคุณหมอชื่อดังจำนวนมากพากันออกมาปูพรมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในหลากหลายช่องทางว่า “ฉีดดีกว่าไม่ฉีด และ ฉีดเร็วดีกว่าฉีดช้า

แต่ทำไมชาวบ้านถึงไม่ค่อยยอมเชื่อคุณหมอทั้งหลายที่ออกมาโต้ข่าวลือเชิงลบของวัคซีนและย้ำเรื่อง “ฉีดดีกว่าไม่ฉีด” เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยงานวิจัยเชิง ”เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” ว่า สาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านยังคงพากันลังเลนั้น ไม่ได้เกิดจากปัญหาเรื่องการขาดข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอตามที่คุณหมอเข้าใจกัน แต่เป็นเพราะว่าชาวบ้าน ไม่มั่นใจในวัคซีนที่มีอยู่ แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นให้แทน นอกจากการเก็บทางเลือก (option) ของเขาที่จะยังไม่ฉีดวัคซีน และรอต่อไป

ชาวบ้านกลุ่มนี้ยังทราบดีว่า “ฉีดเร็วดีกว่าฉีดช้า” หลายคนจึงพากันจองวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เคยตกเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ก็ติดขัดกับเรื่องระเบียบข้อจำกัดต่าง ๆ จนโรงพยาบาลเอกชนต้องขอยกเลิกคำสั่งจองไปในที่สุด

ดังนั้น การเพิ่มความถี่ของการให้ข้อมูลโดยคุณหมอในเรื่องนี้ จึงไม่น่าจะได้ผลเท่ากับการ (1) สร้างแรงจูงใจด้วยการเปิดให้มีทางเลือกตามที่คนต้องการ และ (2) ปรับลดขั้นตอนของระบบเพื่อเอื้อให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ก็น่าจะได้ผลมากกว่า  

แต่การยอมให้ชาวบ้านมีทางเลือกอื่นนอกจากที่ภาครัฐได้เตรียมไว้แล้ว ย่อมจะเพิ่มภาระงานและค่าใช้จ่ายของภาครัฐด้วย คำตอบจึงอยู่ที่ว่า “ใครจะเป็นฝ่ายยอมถอยก่อน หรือจะยื้อกันไปมาแบบนี้ต่อไป

ภาครัฐเองคงเชื่อว่าระบบของตนนั้นดีพร้อมแล้ว (ดูได้จากคำว่า หมอพร้อม”) ซึ่งอาจจะจริงในภาวะปกติที่ระบบรักษาพยาบาลฟรียังมีประสิทธิภาพและถ้วนหน้าได้ในระดับที่ยอมรับกันได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บป่วยพร้อม ๆ กัน ภาครัฐจึงสามารถสร้างระบบประกันสุขภาพที่อาศัยงบประมาณต่อหัวของทุกคนมาใช้ดูแลเฉพาะผู้ป่วยที่มีจำนวนไม่มากในแต่ละจุดเวลาได้ ซึ่งรวมถึงกรณีเมื่อปีที่แล้วที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วแต่ยังไม่มาก ภาครัฐและระบบสาธารณสุขไทยจึงสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกแรกได้ดี

แต่ในยามไม่ปกติที่การระบาดมีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา ก็มีโอกาสสูงที่จะมีผู้ป่วยเกิดขึ้นพร้อมกันจำนวนมาก จนระบบสาธารณสุขไม่สามารถให้บริการรักษาคนจำนวนมากได้พร้อมกัน คล้ายกับกรณีของระบบสาธารณสุขในประเทศอิตาลีเมื่อปีที่แล้วตอนที่ยังไม่มีวัคซีน เป็นต้น

 และหากภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคเอกชนที่สมัครใจแทนการใช้กฎระเบียบได้จริงแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถเลือกชนิดวัคซีนได้มากขึ้น (เช่น วัคซีนโมเดอร์นา และ ฯลฯ) โดยให้ชาวบ้านที่สมัครใจสามารถจ่ายส่วนต่างได้เองแล้ว ก็จะสร้างแรงจูงใจให้คนจำนวนมากเข้าถึงวัคซีนได้ วัคซีนทางเลือกในลักษณะนี้ จึงเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีระบบร่วมจ่ายโดยสมัครใจร่วมอยู่ด้วย

ส่วนเรื่องที่หลายคนอาจกังวลใจว่า จะก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นนั้น ก็ไม่น่าจะใช่เรื่อง เพราะการที่ประเทศมีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น (ไม่ว่าคนคนนั้นจะร่ำรวยหรือยากจนก็ตาม) ย่อมจะเป็นผลดีต่อสังคม เพราะจะเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วย และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับสังคมด้วย อีกทั้งยังสอดคล้องกับสโลแกนของคุณหมอที่ว่า “ฉีดดีกว่าไม่ฉีด และ ฉีดเร็วดีกว่าฉีดช้าด้วย

ขอสรุปปิดท้ายว่า ข้อเสนอข้างต้นนี้ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ว่า “ความถ้วนหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่มีระบบร่วมจ่ายโดยสมัครใจ จะอ่อนไหวต่อภาวะวิกฤติได้มากกว่า  

ไว้รอให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้แล้ว ท่านผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง น่าจะได้ลองพิจารณาทดสอบสมมติฐานนี้ควบคู่ไปกับแนวคิด (mindset) ที่เป็นที่ยอมรับในประเทศอื่นด้วยเช่น ไต้หวัน จะดีหรือไม่.