เรียนจบ-ทำงานต่อที่อังกฤษ The (new) Graduate Route

เรียนจบ-ทำงานต่อที่อังกฤษ The (new) Graduate Route

ความคับข้องใจในการบริหารประเทศ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดจนทำให้เกิดการรวมกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” กำลังเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากในตอนนี้

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่งในปัจจุบันจะโยกย้ายสำมะโนไปยังอีกประเทศหนึ่ง หากขาดซึ่งความรู้ ทักษะแรงงาน และเงินทุน เพราะหากขาดซึ่งปัจจัยทั้ง 3 แล้ว ประชากรที่ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศปลายทาง มีแนวโน้มจะเป็นภาระของสังคม เช่นเดียวกับที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่หลังจากการรับผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากเข้ามาในประเทศ

ดังนั้น การศึกษาและการพัฒนาทักษะจึงเป็นคำตอบหนึ่งสำหรับผู้ที่มีทุนไม่มากและมีความประสงค์ในการย้ายถิ่นที่อยู่

สหราชอาณาจักรซึ่งถือเป็นจุดหมายในการศึกษาต่อของนักศึกษาไทยและทั่วโลกเพราะความคุ้นชินในภาษา และนโยบายใหม่ที่อนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก สามารถพำนักต่อเพื่อหางานทำอย่างถูกกฎหมายภายในประเทศได้เป็นระยะเวลา 2-3 ปี นโยบายใหม่นี้เรียกว่า The (new) Graduate Route

The (new) Graduate Route อนุญาตให้นักศึกษาที่จบการศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไปนี้สามารถสมัครและอยู่ทำงานในสหราชอาณาจักรเป็นจำนวน 2 ปีสำหรับผู้จบปริญญาโท และ 3 ปีสำหรับปริญญาเอก โดยไม่จำกัดสาขาที่เรียนและไม่จำกัดอาชีพการทำงาน และไม่จำเป็นต้องได้งานก่อนที่จะสมัครวีซ่านี้ พูดได้ว่าพอเรียนจบแล้วก็อยู่ต่อรอหางานทำที่นั่นได้เลย และที่สำคัญที่สุดคือวีซ่านี้ไม่จำกัดจำนวน

นโยบายนี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดโดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดนักศึกษาจบใหม่ผู้มีทักษะและความสามารถสูงโดยเฉพาะความสามารถเฉพาะทาง เช่น ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ เข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศหลังจากที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

และยังถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สหราชอาณาจักรใช้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการศึกษาซึ่งเป็นที่หัวจักรหลักในการดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้ารายรับจากอุตสาหกรรมนี้ถึง 35,000 ล้านปอนด์ หรือ 1.4 ล้านล้านบาท และมุ่งเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติจากเดิมที่แตะระดับ 5 แสนคนต่อปีเป็น 6 แสนคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ภายในปี 2573

จากสถิติแล้วพบว่าจำนวนนักศึกษาต่างชาติในสหราชอาณาจักรนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 485,645 คน (ปีการศึกษา 2562) นักศึกษาจำนวนเกือบครึ่งล้านนี้ เป็นนักศึกษาที่มาจากทวีปยุโรป 30% ที่ 143,025 คน และที่เหลือ 70% หรือ 342,620 คนนั้นมาจากทวีปอื่นๆ ซึ่งรวมถึงนักศึกษาจากไทยทีมีประมาณเกือบหมื่นคน

หากพิจารณาถึงคณะสาขาที่นิยมนั้นพบว่า 25% ของนักศึกษาต่างชาตินิยมมาศึกษาด้านบริหารธุรกิจ ส่วนที่เหลืออีก 75% ก็กระจายกันไปในแขนงสาขาวิชาทางสังคม ศิลปะ และการแพทย์

มหาวิทยาลัยในอังกฤษทราบถึงจุดแข็งนี้ดีและได้ใช้เป็นตัวดึงดูดเพื่อเพิ่มจำนวนนักศึกษาในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่จำนวนนักศึกษาต่างชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มหาวิทยาลัยไม่ได้เพียงโฆษณาถึงหลักสูตรที่ดีมีมาตรฐานและชื่อเสียงระดับโลก แต่ยังเสนอขายการใช้ชีวิตในสังคมประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เปิดกว้างทางความคิด ยอมรับ เคารพ และเปิดกว้างในความแตกต่าง นอกเหนือการงานที่มั่นคงและความเป็นอยู่ที่มีความสุขบ้านเมืองมีความปลอดภัยทันสมัย

โดยรวมทั้งหมด จึงเป็นแรงดึงดูดคนที่มีคุณภาพ แรงงานที่มีฝีมือจากทั่วโลกให้เข้ามาอุดหนุนส่งเสริมระบบเศรษฐกิจใหม่ของสหราชอาณาจักรยุคหลัง Brexit และยุคหลังวิกฤติโควิด-19