เทคโนโลยีดิจิทัลสู่กระบวนการยุติธรรม

เทคโนโลยีดิจิทัลสู่กระบวนการยุติธรรม

ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ขั้นตอนการสืบพยานเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็ว

เทคโนโลยีมีอิทธิพลและเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตเราในทุกๆ ด้านเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในแวดวงธุรกิจไอที การศึกษา วงการการแพทย์ การเงิน วงการโฆษณา หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ก็ต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

ไม่เว้นแต่ “กระบวนการยุติธรรม” ที่มีการนำ “เอไอและบล็อกเชน” เข้ามาช่วยสร้างความโปร่งใส แม่นยำ และตรวจสอบได้ในหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การนำเอไอเข้ามาตรวจสอบหลักฐาน ทั้งรูปภาพ ลายมือ หรือลายเซ็นต์ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ช่วยป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้เป็นอย่างดี 

ส่วนการจัดเก็บข้อมูลพยานหลักฐานของคดี มีการบันทึกข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่เชื่อมโยงกัน หากเกิดการแก้ไขหรือมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะถูกบันทึกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบย้อนหลังได้ในทุกขั้นตอน และเมื่อข้อมูลทั้งหมดถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ก็จะช่วยเพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำในขั้นตอนการพิจารณาคดีอีกด้วย

สภาพสังคมในปัจจุบันพบว่า ปริมาณของเหยื่อจากความรุนแรงมีมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนไม่แน่ใจว่าหากตกเป็นเหยื่อจะต้องดำเนินการต่อไปหรือจัดการกับปัญหาอย่างไร มีหลายหน่วยงานพัฒนาแชทบอทที่ให้คำปรึกษากับเหยื่อความรุนแรง แนะนำและให้ข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการช่วยเหลือในขั้นต้นก่อนนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมขั้นต่อไป

อีกหนึ่งบทบาทของเอไอที่น่าสนใจ คือ ความสามารถในการแปลภาษาที่ถูกนำมาใช้ช่วยถอดคำพูดเป็นข้อความในขั้นตอนการสืบพยาน (speech-to-text) ช่วยลดอุปสรรคด้านการสื่อสารในกรณีที่มีคู่ความเป็นชาวต่างชาติ 

เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ขั้นตอนการสืบพยานเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็ว ส่งเสริมให้ทุกคน ทุกเชื้อชาติเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการจ้างล่ามมาช่วยในขั้นตอนนี้ และในกรณีที่คู่ความไม่สามารถเดินทางไปตามวันและเวลานัดของศาลได้ ก็สามารถเรียกดูคำสืบพยานในระบบออนไลน์ได้อีกด้วย

คุณอาจจะได้อ่านเจอข่าวว่ามีนักโทษที่ทำผิด ถูกจำคุก แต่เมื่อพ้นโทษถูกปล่อยตัวก็ทำผิดซ้ำและกลับไปรับโทษอีกครั้งกันมาบ้าง ปัญหานี้มีทางแก้โดยการพัฒนาโมเดลที่มีความสามารถในการทำนายการกระทำผิดซ้ำ โดยอาศัยหลักฐานข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมคุมประพฤติที่ได้เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์โอกาสที่ผู้กระทำผิดจะทำซ้ำ 

นอกจากนี้บางโมเดลยังแสดงผลต้นตอสาเหตุของปัญหาในแต่ละบุคคลได้อย่างเจาะจง เช่น เกิดจากปัญหาด้านจิตใจ ปัญหาด้านการศึกษา หรือปัญหาครอบครัว เพื่อส่งข้อมูลต่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดที่สุด ลดเปอร์เซ็นต์และจำนวนของผู้กระทำผิดซ้ำอย่างได้ผลจริง

แล้วเอไอจะเข้ามาช่วยตัดสินคดีความได้ด้วยหรือเปล่า? ศาลในบางประเทศพัฒนาอัลกอริธึมที่ศึกษาคดีอาชญากรรมมากกว่า 1 ล้านคดี ผ่านรูปประโยคหรือประวัติการประกันตัว นับว่ามีความแม่นยำสูงมาก จึงมีแนวโน้มที่ศาลจะนำข้อมูลคำทำนายของเอไอมาประกอบการพิจารณาตัดสินคดีมากขึ้นในอนาคต

นอกจากการนำเอไอและบล็อกเชนไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยังมีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามควบคุมการเดินทางของผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตรวจสอบเส้นทางการเดินทางได้อย่างละเอียด ซึ่งมีส่วนช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดภาระงานที่ล้นมือของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาการทำงานของกระบวนการยุติธรรม และช่วยลดช่องโหว่ทางอาชญากรรม แต่ในทางกลับกันก็มีบางคนใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาตัวรอดจากการกระทำผิด เราจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รู้เท่าทันภัยของอาชญากร 

ในทางกลับกันก็ไม่ควรเชื่อมั่นในเทคโนโลยีมากจนเกินไป แต่ควรนำมาประกอบการตัดสิน เพื่อเป็นตัวช่วยควบคู่กับการพิจารณาบริบททางสังคมและกฎหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมในอนาคต