ครอบครัวดี สังคมดี

ครอบครัวดี สังคมดี

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่แพร่หลายในโซเชียลมีเดียตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาคือ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนรุ่นใหม่เรียกร้องคนรุ่นเก่า หรือจะเป็นคนรุ่นเก่าเองก็อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ไม่ทำอะไรตามใจตัวเองแต่ให้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

ความรับผิดชอบต่อสังคมจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการ แต่การสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนรับผิดชอบต่อสังคมกลับทำได้ยาก เพราะลำพังแค่สร้างความรับผิดชอบต่อตัวเองเรายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร การสร้างความรับผิดชอบในระดับที่สูงขึ้นมาอีกจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

การบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่รับผิดชอบต่อตัวเองนั้นต้องอาศัยการสร้างสมดุลระหว่างความเคร่งครัดในการเลี้ยงดูเอาใจใส่ กับการให้อิสระในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง หากเคร่งครัดมากเกินไป เด็กๆ ก็จะไม่มีวันกล้าคิดกล้าทำอะไรด้วยตัวเอง จนถึงวันที่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองก็ไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควรทำเพราะไม่เคยคิดเองมาก่อน

เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ให้อิสระกับลูกมากจนเกินไป ก็อาจบ่มเพาะความไร้วินัยและความหย่อนยาน แม้เด็กจะพอเอาตัวรอดได้ แต่ก็เติบโตได้ยาก เราจึงเห็นเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากเอาแต่เรียนหนังสือในระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะไม่กล้ามาทำงานในโลกธุรกิจจริง

การจะสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม จึงต้องสร้างความรับผิดชอบในตัวเองให้เต็มที่เสียก่อน ซึ่งความรับผิดชอบในชีวิตของตัวเองนั้นต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ เพื่อบ่มเพาะให้เขาเติบโตมาโดยมีวินัยและมีความรับผิดชอบอยู่ในจิตสำนึก ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 6 ประการด้วยกันคือ

ประการที่ 1 ต้องทำให้เขามั่นใจในตัวเอง ต้องหัดให้เขาคิดเอง และทำเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำด้วยตัวเอง ถ้าอากาศหนาวก็ต้องรู้ว่าต้องใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเพียงพอ อย่าจัดเตรียมให้เขาไปเสียหมดทุกอย่างจนเขาไม่รู้จัดคิดไม่รู้จักจัดการเรื่องง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ประการที่ 2 ต้องให้เขารู้จักภูมิใจในตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ต้องทำให้เขารู้จักเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำเสมอ

ประการที่ 3 ต้องให้เขารู้จักตัวเอง รู้ความสนใจ ความชอบ ความถนัด เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองไปในแนวทางที่ตรงกับตัวตนของเขาจริงๆ

ประการที่ 4 รู้จักทบทวนตัวเอง ว่าในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือนที่ผ่านไป ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง มีอะไรที่ทำได้ดีก็ต้องให้เขาชื่นชมตัวเองเพราะสร้างความภาคภูมิใจ อะไรที่น่าจะทำได้ดีขึ้นก็จะทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น

ประการที่ 5 ให้กำลังใจตัวเอง เพราะเมื่อได้ทบทวนตัวเองแล้วก็ย่อมรู้ว่ามีอะไรที่เราทำผิดพลาดไป การให้กำลังใจตัวเองจะทำให้มีพลังก้าวข้ามความผิดพลาดเหล่านั้นและใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดพลาดอีกในอนาคต

ประการที่ 6 หมั่นให้ความรู้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทำให้มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน เด็กๆ จะต้องมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง อยากลงมือทำเพื่อจะได้ท้าทายตัวเองด้วยเรื่องใหม่ๆ

ทั้ง 6 ประการนี้จะทำให้เราเด็กๆ รู้จักรับผิดชอบตัวเองได้ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของเขาในแต่ละวัน จึงมีความหมาย ทำให้เขาเป็นตัวของตัวเอง และทำให้เขารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขึ้นกับการกระทำของเขา ซึ่งนั่นจะกลายเป็นรากฐานสำคัญให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อสังคมในอนาคต

สังคมจะดีได้จะต้องขึ้นอยู่กับครอบครัวที่ดี ที่บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ให้รู้จักรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้เป็นอย่างดีเสียก่อน จากนั้นเราจึงหวังให้เขามีความรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้นๆ เมื่อนั้นเราจะสร้างอนาคตไปตามความฝันของคนรุ่นใหม่ไปได้พร้อมๆ กัน