โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่ (จบ)

โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่ (จบ)

ภูมิทัศน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปสร้างโอกาสใหม่มากมายมหาศาล

ต่อกันในประเด็นการใช้ชีวิตในโลกยุคหลังโควิดซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายซึ่งเกริ่นไปในตอนที่แล้ว 6 ประการด้วยกันนั่นคือ เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตามด้วยทักษะการเรียนรู้ภาษาอื่น ความสามารถในการทำงานในที่ใดก็ได้ ตามด้วยรู้จักการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ และหมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต

ประการที่ 7 ใส่ใจในเรื่องความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ เพราะในอนาคตเราจะยิ่งเห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องปัญญาประดิษฐ์ที่ได้ผลพวงจากเทคโนโลยีไอโอที บิ๊กดาต้า และโรโบติกที่ประสานการทำงานร่วมกันจนตอบสนองความต้องการได้มหาศาล

นั่นหมายถึงงานพื้นฐานทั่วไป โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำๆ ไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์หรือใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาใช้ตัดสินใจมากนักจะถูกระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามาทำหน้าที่แทนเกือบทั้งหมด เพราะมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงกว่ามนุษย์หลายเท่า

ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคตจึงเป็นเรื่องของความใส่ใจในอารมณ์ความรู้สึกซึ่งต้องอาศัย EQ เป็นหลัก นั่นคือต้องรู้ว่าจะตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันของลูกค้า คู่ค้า หรือคู่แข่งของตัวเองได้อย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้เอไอยังไม่สามารถพัฒนาให้เหนือมนุษย์ได้

โดยเฉพาะเรื่องของความมีน้ำใจ การแสดงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย การจับประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องอารมณ์ที่หลากหลาย เรื่องเหล่านี้ยากที่คอมพิวเตอร์จะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ คนที่มี EQ สูง จึงมีที่ยืนมากกว่าคนทั่วไปในอนาคต

ประการที่ 8 นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้ยินและได้ฟังมาบ่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เราจะหาความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในบ้านเราได้ยากมาก เพราะองค์กรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจของเราไม่เปิดโอกาสให้กับ “ความล้มเหลว” สักเท่าไรนัก

เพราะความล้มเหลว หากเป็นผลมาจากความพยายามสร้างสิ่งใหม่ใดๆ แล้วย่อมหมายถึงความกล้าลงมือทำ กล้าเสี่ยงทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เกิดนวัตกรรมได้ในอนาคต แต่หากองค์กรไม่กล้าเสี่ยงไม่กล้าทำสิ่งใหม่เพราะกลัวความล้มเหลวก็ยากที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้

ผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกทุกคนล้วนเลยมีประสบการณ์ในความล้มเหลวด้วยกันทั้งนั้น ตัวอย่างชัดเจนที่สุดก็คือสตีฟ จ็อบส์ ที่ล้มเหลวถึงขั้นถูกคณะกรรมการบริษัทกดดันให้ออกจากบริษัทที่ตัวเองก่อตั้งขึ้น จนต้องหันไปเปิดบริษัทใหม่ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ จนกลับมาสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับแอ๊ปเปิ้ลได้มากมาย

ความกล้าคิดแต่ไม่กล้าลงมือทำย่อมทำให้โอกาสประสบความสำเร็จลดลงใกล้เคียงศูนย์เช่นเดียวกัน เพราะความคิดใดๆ จะไม่มีความหมายหากไม่ลงมือทำ ในขณะที่ประสบการณ์ที่ได้จากการทำ ยิ่งมาก ก็ยิ่งทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น จนมีโอกาสที่จะสร้างนวัตกรรมของตัวเองได้สำเร็จ

ประการที่ 9 พัฒนาทักษะในการคิด โดยเฉพาะการคิดเชิงตรรกะและการคิดแก้ปัญหาเชิงระบบ ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์อย่างละเอียดละออและกล้าเสี่ยงซึ่งคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเลียนแบบเราได้ ซึ่งในโลกอนาคตสังคมจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนที่มีทักษะในการใช้ความคิดสูงมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น

ประการที่ 10 เข้าใจภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่มองปัญหาในโลกยุคปัจจุบันได้ดีกว่าคนรุ่นก่อน ส่งผลให้เขาคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ยกระดับให้คนทั่วไปใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้เศรษฐีใหม่ในโลกมีอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ จากเดิมที่กว่าจะก่อร่างสร้างตัวจนมีฐานะร่ำรวยประสบความสำเร็จในระดับประเทศได้อาจต้องใช้เวลาถึง 30-40 ปี นั่นคือกว่าจะเป็นเศรษฐีได้ก็ต้องรอจนมีอายุ 50-60 ปีเป็นอย่างน้อย

แต่ในโลกดิจิทัล เราจะเห็นเศรษฐีรุ่นใหม่ที่มีอายุ 20 ต้นๆ เป็นจำนวนมาก เพราะภูมิทัศน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปสร้างโอกาสใหม่มากมายมหาศาลให้กับพวกเขา และคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ก็สามารถจัดการแก้ปัญหาต่างๆ จนเอาชนะอุปสรรคสร้างเป็นความสำเร็จส่วนตัวได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นด้านรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ บิ๊กดาต้า เอไอ ฯลฯ

ที่สำคัญความสำเร็จของคนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้วัดกันที่ตัวเงิน แต่เป็นเรื่องของความมีอิทธิพลต่อสังคมหรือระบบเศรษฐกิจ ไปจนถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับโลก และโอกาสเหล่านี้ก็เปิดกว้างให้กับทุกคนบนโลกอย่างเท่าเทียมกัน