Aspen Coin: โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับมูลค่าของรีสอร์ท

Aspen Coin: โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงกับมูลค่าของรีสอร์ท

ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเคยอธิบายถึงการ การระดมทุนแบบ “Asset Tokenization” ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นช่องทางในการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีทรัพย์สินหนุนหลังชัดเจน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่สามารถแปลง Asset ที่มีอยู่ให้กลายเป็นโทเคนดิจิทัล และนำเสนอขายต่อประชาชน ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กรณีของ The St.Regis Aspen Resort ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ที่มีการออกโทเคน Aspen Coin โดยอ้างอิงจากทรัพย์สินของรีสอร์ท

การทำ Tokenization ของ Aspen Coin

               การระดมทุนโดยการออกโทเคนดิจิทัล หรือ Tokenization ทำได้ในสองลักษณะ แบบแรก คือ การทำ Project Base ซึ่งเป็นการที่บริษัทผู้ระดมทุนอยากได้เงินทุนเพื่อทำโครงการ จึงหาเงินลงทุนด้วยวิธีการเสนอขาย Token ที่ระบุสิทธิและเงื่อนไขของการร่วมลงทุนไว้ แบบที่สอง คือ การทำ Asset Back ซึ่งเป็นการที่บริษัทผู้ระดมทุนไม่ได้ขอเงินผู้ลงทุนไปทำโปรเจคโดยตรง แต่เป็นการเสนอขายโทเคนในลักษณะที่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าหนุนหลัง เช่น โรงแรม ที่ดิน ภาพวาด หรือแม้แต่หลักทรัพย์ในแบบเดิมไม่ว่าจะเป็น Stocks หรือ Bond ก็สามารถนำมาทำเป็น Underlying Asset ในการออกโทเคนได้

                  ในกรณีของ Aspen Coin นั้น St. Regis เลือกใช้วิธีการระดมทุนแบบ Asset Back โดยนำรีสอร์ทของตนมาประเมินเพื่อตีราคาและกำหนดมูลค่าโดยการแตกหน่วยให้อยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลที่เรียกว่า Aspen Coin ซึ่งได้มีการแตกหน่วยลงทุนและออกขายต่อประชาชนมากถึง 18 ล้านโทเคน โดยกำหนดให้ 1 Aspen Coin มีราคาเท่ากับ 1 USD และเสนอขายผ่านแพลตฟอร์มของ Indiegogo (listed ใน Templum Markets) โดยมีวัตถุประสงค์ในการขายให้กับ Investor ในสหรัฐ เป็นหลัก ทั้งนี้ ขั้นตอนในการเสนอขาย รวมถึงการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน เป็นไปตามกฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐ

จุดเด่นคือ คือ การได้กรรมสิทธิ์
           กล่าวคือ Aspen Coin ถือเป็นนวัตกรรมในการลงทุนที่สร้างสรรค์โดยการนำ การถือครองกรรมสิทธิ์ใน Aspen Resort มาแตกเป็นหน่วยลงทุน” หรือ ที่เรียกว่า Fractional Ownership และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใน Aspen Resort ได้ตามสัดส่วนที่กำหนด (แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของบริษัท) ดังนั้น Aspen Coin จึงเป็นหลักทรัพย์ หรือ Financial Securities ประเภทหนึ่งที่มีมูลค่าและก่อให้เกิดสิทธิต่าง ๆ ทางกฎหมาย และผู้ที่ถือครองย่อมมี Ownership ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการระดมทุนแบบ Project Base ที่ผู้ระดมทุนไม่ได้ประสงค์จะก่อนิติสัมพันธ์ในเชิงกรรมสิทธิ์กับผู้ลงทุน

 การกำหนดสิทธิของ Aspen Coin                                      

                ในหลักการ เมื่อมีการออกโทเคนดิจิทัลแล้ว ผู้ออกจะทำการกำหนดสิทธิในการถือครองโทเคนดังกล่าว ซึ่งอาจแบ่งได้ในสองลักษณะ อย่างแรก คือ โทเคนเพื่อการลงทุน (Investment Token) ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิให้แก่ผู้ถือในการร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการใด ๆ ที่มีทรัพย์สินหนุนหลัง โดยอาจกำหนดให้มีสิทธิในการได้รับส่วนแบ่งรายได้หรือกำไรภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อย่างที่สอง คือ โทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิในการเข้าถึงสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง

                สำหรับ กรณี Aspen Coin นั้น St. Regis ออกโทเคนที่มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างผลประโยชน์แบบ Investment Token และ แบบ Utility Token กล่าวคือ ผู้ถือครองอาจได้รับเป็นเงินปันผล หรือรับส่วนแบ่งจากกำไรจากกิจการของรีสอร์ท รวมไปถึงส่วนลด และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการเข้าพัก ซึ่งลักษณะพิเศษนี้ ทำให้ผู้ถือครองเปรียบเสมือนเป็นผู้ถือหุ้นที่อาจได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากการบริการของรีสอร์ทเพิ่มเติมจากส่วนแบ่งกำไรตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากการถือหุ้นทั่วไปที่จะได้เงินปันผลเป็นหลัก

St.Regis และ Investor ได้อะไร

          การออก Aspen Coin มีประโยชน์ต่อกิจการของ St.Regis และมีข้อดีต่อ Investor หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ประการแรก St.Regis ได้เงินจากการระดมทุน (Raise Capital) เพื่อมาหมุนเวียนในกิจการโดยไม่ผ่านตัวกลางทางการเงินอื่น เช่น ไม่จำเป็นต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน (ซึ่งอาจมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงกว่า) ในขณะเดียวกัน Investor ที่เข้าซื้อ Aspen Coin ก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญได้ตลอดเวลาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเป็นการปลดล็อกการลงทุนใน “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและเข้าถึงได้ยาก อันเป็นการลด Minimum investment threshold ในการลงทุน

                   ประการที่สอง การใช้เทคโนโลยีในการแตกหน่วยกรรมสิทธิ์ของรีสอร์ทตามหลักสัดส่วนนี้ อาจช่วยให้ Investor รายต่าง ๆ ที่มีกรรมสิทธิ์จากการถือครองเหรียญ ไม่ต้องจดทะเบียนการโอนสิทธิหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบเดิมที่อาจมีขั้นตอนที่ใช้เวลา และมีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้นทุนประกอบด้วย  

                   ประการที่สาม สำหรับ Investor ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หากเปรียบเทียบกับการซื้อคริปโทหรือโทเคนประเภทอื่น ๆ ที่ไม่มี Asset หนุนหลัง ซึ่งอาจไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินใด ๆ ของผู้ออกเหรียญได้

                    ประการที่สี่ การใช้ Ethereum เป็น host currency ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับเหรียญบนเครือข่าย Ethereum Blockchain มีความโปร่งใสและปลอดภัยสูง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขโดย St.Regis เอง หรือการทำธุรกรรมในทอดถัดๆ มา จะถูกบันทึกไว้ในรูปแบบ Code ผ่าน Smart Contract และไม่อาจแก้ไขได้ ซึ่งการบันทึกในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในภายหลัง

                   ท้ายที่สุด Aspen Coin ถือเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนหยิบยกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งการทำ Asset Tokenization ในลักษณะนี้ ถือว่าเป็น Asset Class แบบใหม่ที่น่าสนใจ และผู้เขียนเชื่อว่าทิศทางของกฎหมายและการทำนโยบายด้านการลงทุนของหลายประเทศเริ่มให้การยอมรับการแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินผ่าน Token เพิ่มมากขึ้น. 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน