ความฝันของ(หัว)กะทิ

 ความฝันของ(หัว)กะทิ

สัปดาห์ก่อนเกิด “ปรากฏการณ์” ทางสังคมที่  “ประหลาด” ซึ่งทำให้เกิดความงงงวยโดยเฉพาะกับคน “รุ่นเก่า” ที่มักจะเป็นผู้สูงอายุ

โลกในมุมมองของ Value Investor     8 พฤษภาคม 2564

          นั่นก็คือ  เกิดกระแสในทวิตเตอร์  “#ย้ายประเทศกันเถอะ” เพราะมีคนตั้งกลุ่มในเฟซบุคในชื่อเดียวกัน  และหลังจากนั้นภายในเวลาไม่กี่วันก็มีสมาชิกเกือบล้านคนแล้ว  คนที่เข้าไปเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็น “คนรุ่นใหม่”  อายุน่าจะประมาณ 24-30 ปี บางส่วนก็ยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมอายุ 15-18 ปี  พวกเขาตั้งกลุ่มและเข้าเป็นสมาชิกเพื่อหาข้อมูลและให้ความช่วยเหลือคนที่ต้องการย้ายไปอยู่ประเทศอื่นแบบ  “ถาวร” หรือ “ยาวนาน” ด้วยเหตุผลที่ว่า  ประเทศไทย  “ไม่มีอนาคต”  สำหรับ “คนรุ่นใหม่” ที่อายุยังน้อยและต้องการสร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเอง  ก่อนหน้านี้พวกเขาคือคนที่ประท้วงและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย  ไม่มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคและไม่ฟังเสียงของประชาชน  พวกเขาเห็นว่า  ด้วยระบบที่เป็นอยู่  ประเทศจะไม่พัฒนาและล้าหลังและคนที่จะรับผลอันนั้นในอนาคตก็คือพวกเขาเอง  การเรียกร้องและ “ต่อสู้” ของพวกเขานั้น  ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการตอบรับอย่างสิ้นเชิง  ตรงกันข้าม  กลับถูก  “ปราบปราม” จนหลายคน  “สิ้นหวัง”  และถอดใจจนเกิดความคิดใหม่ว่า  ถ้าอย่างนั้น  น่าจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นจะดีกว่า

            การย้ายไปอยู่ต่างประเทศแบบถาวรหรือไม่มีกำหนดเรื่องระยะเวลากลับนั้น  ไม่เหมือนกับการไปเรียนหรือการทำงานหาเงินและเก็บเงินเพื่อที่จะกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างคนที่มีสถานะ  มีเงิน  และมีความก้าวหน้าขึ้น  ซึ่งจะนำไปสู่การมีชีวิตที่มีความสุข  นี่เป็นส่วนหนึ่งของ  “ความฝัน” ซึ่งคน “ชั้นนำ” หรือคนที่ “มีศักยภาพสูง” ในสังคมไทยมีมาตลอดจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้   ในคน “รุ่นเก่า” รวมถึงผมเองนั้น  เราถูกปลูกฝังและเชื่อว่า  “ไม่มีที่ไหนที่จะมีความสุขเท่าเมืองไทย” ทั้ง ๆ  ที่เราไม่เคยไป “อยู่” ในประเทศอื่นเลย  พอผมโตขึ้นและได้มีโอกาสไปเรียนหรือ “อยู่” ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 4 ปี  ผมก็รู้สึกว่า  ที่จริงการอยู่ในอเมริกาก็มีความสุขเหมือนกับการอยู่ในเมืองไทย  อย่างไรก็ตาม  ผมก็กลับ “บ้าน” เมื่อเรียนจบเพราะความสามารถที่มีโดยเฉพาะด้านภาษาไม่ดีพอที่เขาจะจ้างให้ทำงานดี ๆ ได้   ผมไม่ดิ้นรนที่จะสู้เพื่อที่จะให้อยู่ในอเมริกาต่อไป  ผมกลับบ้านเพราะคิดว่าประเทศไทยในปี 2528 หรือเมื่อประมาณ 36 ปีที่แล้วนั้น “มีอนาคต” และผมก็ “คิดถูก” เพราะผมเจริญก้าวหน้ามาตลอดตามการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าของประเทศที่ดีขึ้นจนเป็นเป็น  “ดารา” และเป็น  “แบบอย่าง” ให้แก่ประเทศ “ล้าหลัง” ทั้งหลาย  และนี่ก็รวมไปถึงเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ  ที่แม้ว่าจะไม่เต็มร้อยแต่ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

        ที่จริงหลังจากที่ผมกลับบ้านนั้น  ประเทศไทยก็เริ่ม “เปิดประเทศ” โดยเฉพาะทางด้านการเงินและการลงทุนอย่างกว้างขวาง  รวมถึงการ “เปิดเสรีทางการเงิน” ในปี 2533 ซึ่งทำให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้อย่างสะดวก  ผลจากการนั้นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นขึ้นไปกว่า 4 เท่าในเวลา 3 ปีครึ่งคือจากประมาณ 200 จุดเป็น 1,100 จุด จากต้นปี 2530 –กลางปี 2533        ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทุกด้าน  ในด้านการเมืองนั้น  ในปี 2531 พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ ในฐานะ “นักการเมือง” และหัวหน้าพรรคการเมืองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี  จากเดิมที่นายกมักจะต้องเป็นทหารหรือมาจากทหารเป็นหลัก  นั่นเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตย  ในด้านของเศรษฐกิจ  นั้น  GDP ของไทยเติบโตเป็นเลข 2 หลักติดต่อกันถึง 3 ปี  สุภาษิตของพลเอกชาติชายในช่วงนั้นก็คือ  “จะเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เพราะช่วงก่อนหน้านั้นเรามีปัญหาการสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน  อนาคตของไทยสดใสมากเสียจนเกิดความคิดและมีการรณรงค์ให้คนไทยที่ “ย้ายประเทศ” ไปอยู่ประเทศก้าวหน้าเช่นอเมริกาให้เดินทางกลับมาอยู่และทำงานในประเทศไทยในชื่อโครงการ  “สมองไหลกลับ” อย่างไรก็ตาม  หลังจากพวกเขาเดินทางกลับมา “ดูลาดเลา” และพบกับความเป็นจริงโดยเฉพาะระบบต่าง ๆ  ของ  “รัฐไทย” แล้ว  พวกเขาก็เลิกล้มความตั้งใจ  ทุกวันนี้ผมก็ยังเห็นเพื่อนที่เป็นอาจารย์ในสหรัฐบางคนกลับมาเยี่ยมเยือนและสอนคอร์สเป็นครั้ง ๆ แต่เขาไม่พูดเรื่องกลับมาอยู่ประเทศไทยอีกเลยแม้ว่าอายุจะใกล้ 70 ปีแล้ว

            ประเทศไทยคงจะยังมีอนาคตและเป็นที่ ๆ “อยู่แล้วมีความสุขที่สุด” ในสายตาของคนไทยโดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นนำหรือคนที่มีศักยภาพจนถึงอย่างน้อยปี 2549 หรือ 15 ปีมาแล้ว  นั่นเพราะว่าปีนั้นเป็นปีที่หนังสือชื่อ  “ความสุขของกะทิ” เขียนโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ ได้รับรางวัลซีไรต์  หนังสือพรรณนาถึงความสุขของเด็กหญิงอายุ 9 ขวบชื่อกะทิที่มีครอบครัวเป็น “คนชั้นนำ” แต่ได้ใช้ชีวิตในพื้นเพชนบทที่งดงาม  “โรแมนติก” และทั้ง ๆ  ที่มีแม่ที่เจ็บป่วยอย่างหนักจนเสียชีวิตแต่ก็มีความสุขแบบไทย ๆ  ที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวตั้งแต่ตายายพี่ป้าน้าอาทุกคนใช้ชีวิต “อย่างพอเพียง” และเต็มไปด้วยความรัก  คนที่อายุไล่ ๆ  กับผู้เขียนและเป็นคนชั้นนำหรือมีศักยภาพที่จะเป็น  ถ้ามาอ่านและรำลึกถึงภาพเก่า ๆ  แบบนี้ก็คงจะรู้สึกได้ถึง “ความสุข” ของการอยู่ในประเทศไทย  อย่างไรก็ตาม  ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยทั่ว ๆ  ไปโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในชนบทมาก่อนจะรู้สึกแบบนั้นหรือไม่โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น  คนชนบทโดยเฉพาะที่เป็นคนหนุ่มสาวต่างก็  “ย้ายเข้าเมือง” แสวงหา “อนาคต” กันจนแทบจะทำให้ชนบทร้างเหลือแต่คนแก่และเด็กเล็กอย่างในปัจจุบัน

          ความสุขและความฝันของคนไทยรุ่นใหม่หรือรุ่นหนุ่มสาวในวันนี้คงจะเปลี่ยนไปมากอานิสงค์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกไร้พรมแดนทำให้คนไทยได้เห็นและเรียนรู้จากคนอื่นทั่วโลก   ความคิดและวัฒนธรรมใหม่ ๆ  ที่คนไทยรุ่นก่อนไม่เห็นด้วยไม่คุ้นเคยและไม่เคยถูกสอนให้รู้จักหรือถูกบอกว่าไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับสังคมไทย  กลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่เห็นชอบสมาทาน  ความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษบุญบารมีชาติก่อนที่กำหนดให้คนแต่ละคนได้ดีมีอำนาจบารมีในชาตินี้ไม่เป็นที่ยอมรับ  ความ “งดงาม” ของสังคมที่มีชนชั้นลดหลั่นกันไปและทุกคนรู้ในบทบาทหน้าที่ของตนเองเสมือนดังร่างกายที่ต้องมีหัวใจมีสมองมีมือมีเท้ามีนิ้วหรือมีเส้นผมนั้นไม่เป็นที่ยอมรับ  คนรุ่นใหม่เชื่อว่าทุกคนควรที่จะสามารถมีความคิดและความเชื่อเป็นของตนเองและทำตามสิ่งนั้นได้โดยไม่ควรมีใครมาบังคับ  สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด  ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมายและการตัดสินอะไรที่เกี่ยวกับส่วนรวมจะต้องเป็นแบบ “ประชาธิปไตย” คือ 1 คนก็มี 1 สิทธิในการโหวต  เป็นต้น  และด้วยวิธีการแบบนี้โลกหรือประเทศก็จะอยู่กันอย่างสงบและมีความก้าวหน้า  คนที่อยู่ในสังคมก็จะ  “มีอนาคต” ที่ดีและมีความสุข

            “ความฝัน” ของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะที่เป็น “คนชั้นนำ” หรือคนที่มีศักยภาพสูง  ซึ่งผมอยากจะตั้งชื่อเลียนแบบ “ความสุขของกะทิ” ก็คือ  “ความฝันของ(หัว)กะทิ” ก็คือ  การเปลี่ยนแปลงสังคมให้ตอบสนองกับ “โลกใหม่” ของพวกเขาเพื่อที่ว่าพวกเขาจะสามารถอยู่ในประเทศที่ทำให้พวกเขาก้าวหน้าและมีความสุข  พวกเขาเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่และที่กำลังจะเป็นต่อไปนั้น  เป็นสิ่งที่ “กดขี่” เอารัดเอาเปรียบและฉ้อฉลโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้  ครั้นพวกเขาพยายามที่จะทำก็ถูกปราบปรามลงโทษ  ดังนั้น  พวกเขาจึงต้องการย้ายไปจากสังคมแบบนี้  และด้วยสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป  ประเทศที่ก้าวหน้าขาดแคลนแรงงานเพราะคนเกิดน้อยลงและประชากรแก่ตัวลงจึงต้องการแรงงานโดยเฉพาะที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ  นี่จึงทำให้กลุ่มเฟซบุคย้ายประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้คนที่มีหน้าที่บริหารประเทศรวมถึงนักลงทุนอย่างผมต้องจับตามอง  เพราะนี่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในระยะยาวได้อย่างรุนแรง

            สำหรับผมแล้ว  ปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่นั้น  เป็นเพียงอีกอาการหนึ่งของปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทยที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ  ตั้งแต่ 6-7 ปีก่อน  เริ่มตั้งแต่การเกิดที่น้อยลงและคนที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจต่ำลง  สิ่งนี้ประกอบกับระบบการปกครองประเทศที่ค่อนข้างจะล้าหลังทำให้ไม่สามารถปรับตัวเพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้  โควิด-19 ทำให้คนตกงานและทำให้ปัญหาเศรษฐกิจหนักขึ้นไปอีกและนี่ส่งผลกระทบกับคนรุ่นใหม่อย่างแรง  “อนาคต” สำหรับพวกเขา “มืดมน” วิธีที่จะนำอนาคตของพวกเขากลับมาก็คือ  “ต่อสู้” เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อที่จะได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ  หรือไม่ก็ “หนี” ไปหาอนาคตในประเทศใหม่ที่สดใสกว่า  ผมเองก็ไม่รู้ว่าถ้าผมยังเป็นหนุ่มอยู่  ผมจะเลือกแบบไหน  แต่ถ้าเป็นเรื่องของการลงทุน  ผมคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งผมเองได้เริ่ม “ย้ายประเทศลงทุน” กันไปแล้ว  เพราะนักลงทุนนั้นเป็น “นักเลือก” ไม่ค่อยอยากเป็น  “นักสู้” โดยเฉพาะถ้าคิดว่าจะแพ้