ประเมินความแข็งแกร่งของธุรกิจเอสเอ็มอี

ประเมินความแข็งแกร่งของธุรกิจเอสเอ็มอี

การแข่งขันทางธุรกิจและความผันผวนของบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหากับการอยู่รอดของธุรกิจ

ความแตกต่างระหว่างธุรกิจเอสเอ็มอีแนวคิดสมัยใหม่กับธุรกิจเอสเอ็มอีแนวคิดแบบดั้งเดิมที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การมีเป้าหมายการบริหารธุรกิจให้เกิดการเติบโตและแข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา กับการบริหารธุรกิจแบบปล่อยให้ธุรกิจเติบโตไปตามธรรมชาติ

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ภายใต้สภาวะการแข่งขันทางธุรกิจและความผันผวนของบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน มีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ต้องประสบปัญหากับการอยู่รอดของธุรกิจ

ในการบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจเอสเอ็มอี เรื่องของการเฝ้าติดตามผลการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นกิจลักษณะและต่อเนื่อง มักจะเป็นพันธกิจและภารกิจที่สำคัญเรื่องของผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจ

แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ข้อมูลที่เป็นผลของการดำเนินธุรกิจ แม้ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี ก็มีจำนวนมากมาย เราจะเลือกเอาข้อมูลไหนมาเฝ้าตาม จึงจะสะท้อนความแข็งแกร่งของธุรกิจได้ดีที่สุด เพราะหากจะเฝ้าตามข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ก็คงจะเป็นไปไม่ได้

แนวทางในการแก้ปัญหานี้ ก็คือ การกำหนดตัวชี้วัดที่เรียกว่า “เป้าหมายเชิงกลยุทธ์” ขึ้นมาภายในธุรกิจ

สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ อาจมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เป็นจำนวนมากซึ่งแต่ละกลยุทธ์มักจะได้รับการกำหนดขึ้นด้วยกระบวนการที่เป็นขั้นตอนอย่างเป็นกิจลักษณะ แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีกระบวนการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์มักจะทำอย่างไม่เป็นทางการ หรือบางครั้งก็ไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าเป้าหมายใดในเป้าหมายประจำปี จะถือได้ว่าเป็น เป้าหมายเชิงกลยุทธ์

วิธีการเบื้องต้นสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจของธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อกำหนดว่าเป้าหมายใดของธุรกิจที่จะเรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ อาจดูได้จากลักษณะของการดำเนินการภายในเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใน 4 ประเด็น ดังนี้

(1) เป็นงานที่ฝ่ายบริหารจัดงบประมาณเฉพาะหรือเพิ่มเติมให้เป็นพิเศษ (2) เป็นงานที่ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างแผนกต่างๆ หลายแผนก (3) เป็นงานที่ได้กำหนดเป้าหมายงานไว้อย่างชัดเจน และ (4) เป็นงานที่มีกำหนดเวลาแล้วเสร็จอย่างเป็นกิจลักษณะ

เป้าหมายที่เข้าข่ายตามเงื่อนไขทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว ก็จะมีจำนวนลดน้อยลงพอที่ผู้บริหารจะติดตามได้เป็นประจำ

ปัญหาต่อมาก็คือ เอสเอ็มอี ที่ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายการดำเนินงานมาก่อนเลย จะเริ่มต้นกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจอย่างไร

ข้อแนะนำเบื้องต้น ก็คือ ให้เจ้าของหรือผู้บริหารเอสเอ็มอี เป็นผู้เริ่มต้นเลือกเป้าหมายจากกลุ่มการดำเนินธุรกิจที่เห็นว่าเป็นตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง จากตัวอย่างทางเลือกดังต่อไปนี้

เป้าหมายด้านการเงิน - รายได้จากการขาย ค่าใช้จ่าย กำไร สินทรัพย์ หนี้สิน ต้นทุนการผลิต กระแสเงินสด วัตถุดิบและ/หรือ สินค้าคงคลัง ส่วนแบ่งการตลาด ฯลฯ

เป้าหมายด้านคุณภาพสินค้าหรือการบริการ - ระดับคุณภาพ การจัดส่งสินค้า ของเสียจากการผลิต การพัฒนานวัตกรรม ฯลฯ

เป้าหมายด้านเวลา - ผลิตภาพ ระยะเวลาของรอบการผลิตและการจัดส่ง ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ

เป้าหมายด้านลูกค้าและตลาด – ภาพลักษณ์ของธุรกิจ กิจกรรมการตลาด กิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ จำนวนผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ จำนวนลูกค้าใหม่ อัตราการรักษาลูกค้าเดิม ฯลฯ

เป้าหมายด้านพนักงาน - อัตราการลาออก แผนบริการจำนวนพนักงาน กิจกรรมเสริมความภักดีของพนักงาน การอบรมและเพิ่มทักษะการทำงาน การมีส่วนร่วมของพนักงาน ผลิตภาพของพนักงาน ฯลฯ

การเลือกเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนมาก แต่ต้องเป็นเป้าหมายที่ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกด้าน และมีความสำคัญต่อการชี้เส้นทางการเติบโตในอนาคตของธุรกิจ

หลังจากนั้น ก็จัดระบบให้มีการบันทึกและติดตามความคืบหน้าของงานแล้วนำมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายและกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้

หากผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมายหรือใกล้เคียงกับเป้าหมาย ก็จะแสดงว่า ธุรกิจดำเนินไปตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ได้ด้วยความแข็งแกร่ง และสามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ระยะกลาง 3-5 ปี และกลยุทธ์ระยะยาวระยะ 10 ปี หรือมากกว่าให้กับธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตและความแข็งแกร่งของธุรกิจได้ต่อไป

ข้อสำคัญที่สุดสำหรับเจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุดของธุรกิจเอสเอ็มอีก็คือ การเริ่มต้นปรับความคิดให้เข้าสู่ความเป็นเอสเอ็มอีสมัยใหม่ด้วยการกำหนด เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ ที่มีความชัดเจนและวัดผลได้เสียตั้งแต่วันนี้ !!??!!