หนังสือเพื่อนซี้ในบ้านยุคโควิด  

หนังสือเพื่อนซี้ในบ้านยุคโควิด  

คนไทยมากถึง ๖๑% ซื้อหนังสือจากงานบุ๊คแฟร์ต่างๆ ซื้อออนไลน์รูปแบบเล่ม ๕๑% ซื้ออีบุ๊ค ๒๐% และที่ซื้อจากช่องทางร้านหนังสือยังมีถึง ๘๑%

                 ตัวเลขชุดนี้หมายถึงว่าคนหนึ่งอาจซื้อหนังสือหลายช่องทาง   เป็นสถิติปี ๖๓ ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเก็บจากผู้เข้าร่วมงานหนังสือบุ๊คแฟร์" ออนไลน์ "ที่ได้จัดขึ้นกะทันหันทดแทนงานหนังสือบุคแฟร์ "ออนกราวนด์" ที่ถูกงดไปเพราะการระบาดโควิด  19   

 เทียบกับ ๑๐  ปีก่อน  อุตสาหกรรมหนังสือไทยมีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง  ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท   การแพร่ระบาดโควิดปี ๖๓ กระทบงานหนังสือบุ๊คแฟร์   ร้านหนังสือส่วนใหญ่อยู่ในห้างถูกล็อกดาวน์ไร้ยอดขายนานกว่า ๓ เดือน ส่งผลให้ภาพรวมตลาดหนังสือในปีก่อนเหลือเพียง ๑๒,๐๐๐ ล้านบาท จากที่คาดการณ์ไว้ที่ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท

 เฉพาะรายได้จากงานหนังสือบุ้คแฟร์ในปี  ๖๓  ลดลงเหลือเพียง ๒๗๑  ล้านบาทจากรายได้รวมราว ๗๘๘  ล้านบาทในปี ๖๒ เท่ากับว่าหายไป ๕๐๐ ล้านบาท สอดคล้องกับตัวเลขยอดขายหนังสือที่หายไป  ๘๐ เปอร์เซ็นต์  !?!  ซวดเซกันทุกสำนักพิมพ์

 เป็นไปได้อย่างยิ่งที่ยอดเงินซื้อจากงานหนังสือบุ๊คแฟร์ต่อคนน่าจะสูงเอาการอยู่   คนละเป็นหลักพันบาทขึ้นไปซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเวลาไปซื้อของในงานแฟร์ต่าง ๆ  เรามักจบลงด้วยการซื้อมากกว่าที่ตั้งใจไว้เพราะในงานมีมากมายให้สัมผัสให้เลือกมากกว่าที่เราคิดไว้  อีกทั้งเทคนิคการขายต่าง ๆ ลดแลกแจกแถม  บวกโปรโมชั่นอีกร้อยแปดชนิด  กระตุ้นให้เราซื้อมากขึ้นกว่าปกติ   สังเกตได้ว่าทางสมาคมฯและสำนักพิมพ์ก็พยายามจะรักษา/สร้างกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มนี้ด้วยเทคนิคการขายต่าง ๆ    

 ดูจากในเมื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ๒๕๖๔  ที่หมายมั่นปั้นมือจะจัดขึ้นกลางเดือนเมษาทั้ง "ออนกราวนด์"  ที่ไบเทค บางนา   และ  "ออนไลน์ " แต่แล้วกลับมีอันต้องงดไปราวฟ้าผ่าต่อหน้าเพราะการระบาดโควิด รอบ ๓  ทั้งที่เหลือเวลาอีกสิบกว่าวันก็จะเริ่ม เหลือแต่บุ๊คแฟร์ "ออนไลน์" โดยมีสำนักพิมพ์ ๒๐๐ กว่าแห่ง  (จากสมาชิกสำนักพิมพ์ ๔๐๐ กว่า ) เข้าร่วมจาก ๑๗ เมษาจนถึง ๕ พฤษภาคม   ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ท่วมท้นล้นจอด้วยเทคนิคการขายต่าง ๆ

 ผู้ซื้อต้องมีทักษะทางดิจิทัลพอตัวถึงจะสามารถรับมือได้ไม่เวียนหัวไปเสียก่อน  โปรโมชั่นมีหลากชนิด  คูปองสารพัดอย่าง  กระทั่งพิมพ์ตัวเลขลุ้นโชควันต่อวัน   มีการชักนำกลุ่มผู้มีอิทธิพลสร้างพฤติกรรม  (  influencers) เข้ามาในวงการหนังสือ  มีเจ้าหน้าที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการซื้อการจ่ายเงินออนไลน์ลุล่วงทุกขั้นตอนอย่างดียิ่งจนต้องขอชมเชย

 อย่างไรก็ดี  ยังต้องรอหลังวันที่  ๕ พฤษภา ที่สมาคมฯจะสรุปภาพรวม  โดยเฉพาะรายได้จากการขายว่าจะขึ้นหรือลง หรือเสมอตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว  แม้ตัวเลขของสมาคมฯจะสรุปได้เฉพาะจากการสั่งซื้อผ่าน thaibookfair   ในขณะที่สำนักพิมพ์มีการขายผ่านทางเพจ และทาง lineshop ของตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็น่าจะทำให้จับชีพจรอุตสาหกรรมหนังสือได้พอสมควร

 ก่อนจะได้ภาพรวม  มีข้อมูลการขายจากบางสำนักพิมพ์ที่น่าสนใจกล่าวคือ  แม้ในปี ๖๔ นี้จะได้พิมพ์หนังสือเพียงไม่ถึงครึ่งของจำนวนปกหรือชื่อเรื่องของปีก่อนเพราะพิษโควิดจากปีก่อนและลามมาถึงปีนี้   แต่น่ายินดีที่การขายทั้งใน thaibookfair และเพจตลอดจน lineshop ของร้าน  รวมกันแล้วทำยอดได้เท่าๆเดิมหรือกระเตื้องขึ้นกว่าเดิม  ซึ่งมากน้อยต่างกันไป   สังเกตดูสำนักพิมพ์กลุ่มนี้มีฐานสมาชิกของตน  ผู้ซื้อกลุ่มนี้มักไม่หลับหูหลับตาซื้อเพราะลดแลกแจกแถมและอาจไม่ได้ฟัง  influencers คนใดเลยก็ได้   อีกอย่างหนึ่ง  เป็นไปได้ว่าผู้ซื้อไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มสมาชิก   แต่มีผู้ซื้อหน้าใหม่ในวงที่กว้างกว่าเดิม  

ทำอย่างไร   จึงจะมีผู้อ่านมากขึ้นในวงกว้างขึ้นโดยผู้อ่านเป็นฝ่ายขวนขวายหาทางอ่านทุกช่องทางด้วยตัวเอง  

รายได้จากอุตสาหกรรมหนังสือของอังกฤษหลังปีโควิด  ๖๓  นับเป็นยอดรวมสูงที่สุดในรอบแปดปีที่ผ่านมา ( Book sales defy pandemic to hit eight-year high, The Guardian 25 Jan. 2021) ทั้ง ๆ ที่ร้านหนังสือถูกปิดถึงสองช่วง แต่พอร้านเปิด มีขายออนไลน์   การซื้อยิ่งเพิ่มขึ้น   หนังสือที่ขายดีคนซื้อเอามาเป็นเพื่อนในบ้านยามโควิด (และตลอดกาล) คือ นวนิยาย เรื่องสั้นที่ให้ความบันเทิง   ในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น   ก็คล้ายกัน ยอดขายนวนิยายเรื่องสั้นไม่ลด   มีแต่จะเพิ่ม   ในบ้านเรา หนังสือนิยายและการ์ตูนเพื่อความบันเทิงก็มาเป็นอันดับหนึ่งเช่นกันในงานหนังสือบุ๊คแฟร์ โดยเฉพาะงานหนังสือ "ออนไลน์" ในปีที่ผ่านมา 

ไม่ว่าที่ไหน  การอ่านการเขียนที่สามารถให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่านที่มีทางเลือกการบันเทิงได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน คือ โจทย์สำคัญยิ่งในอุตสาหกรรมหนังสือ  ซึ่งไม่ใช่ภาระของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯคนเดียวที่จะสู้ปัญหานี้  การอ่านการเขียนการพิมพ์การขายหนังสือมันเป็นลูกโซ่กระทบกันทั้งวงจร  สังคมต้องหาทางอำนวยให้นักเขียนเก่าได้พัฒนาตัวเอง  เกิดนักเขียนใหม่ๆเนื้อหาใหม่ๆรูปแบบใหม่ๆหล่อเลี้ยงกันทั้งวงจร    จึงจะขยายวงนักอ่านได้อย่างยั่งยืน  นักเขียนใหม่ก็ไม่ควรหมายถึงเฉพาะคนรุ่นใหม่  สองปีมานี้ญี่ปุ่นเกิดปรากฏการณ์ผู้สูงอายุเป็นนักเขียนหน้าใหม่ Best sellers อ่านกันทั้งหนุ่มสาวและคนแก่ !

 ยังรอดูอยู่ด้วยใจระทึกว่าการเน้นเทคนิคขายต่าง ๆ เช่นโปรโมชั่น  การใช้ influencers   ตลอดจนหาตลาดด้วยวิธีปักธงในเมืองรอง เช่น เชียงใหม่  อุดรธานี  ฯ  จะส่งผลให้ยอดขายในงานหนังสือบุ๊คแฟร์ ปี๖๔   อย่างไรบ้าง  สมาคมฯประมาณว่าน่าจะได้ราว ๒๐๐ ล้านบาท/งาน  รวมทั้งปี ๖๐๐ ล้านบาทโดยหวังว่ามูลค่ารวมอุตสาหกรรมหนังสือปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ  ๑๕,๐๐๐  ล้านบาท.