ลดบาดเจ็บผลกระทบ COVID-19 เร่งฉีดวัคซีนและเยียวยาแรงงาน

ลดบาดเจ็บผลกระทบ COVID-19 เร่งฉีดวัคซีนและเยียวยาแรงงาน

การระบาด COVID-19 รอบที่ 3 ยังไม่ทราบว่าจะบรรเทาลงเมื่อไร ขณะที่ประชากรไทยเพิ่งได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ไปเพียง 1.1% (ณ วันที่ 2 พ.ค.)

การระบาดรอบที่ 3 นี้เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินเบื้องต้นว่าการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะลดลงถึง 1% จากที่เคยประมาณการณ์ไว้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

การระบาดของ COVID-19 รอบที่ 1 ของไทยเริ่มในปลายปี 2562 และต่อเนื่องไปยังปี 2563 ตลอดทั้งปี พบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 มีการขยายตัวที่มีความผันผวนตกต่ำกว่าปี 2561 ในทุกไตรมาสส่งผลให้ Gross Domestics Product (GDP) มีการขยายตัวต่ำลงเหลือ 2.3% เทียบกับปี 2561

เมื่อมีการระบาดของ COVID-19 ตอนต้นปี 2563 แม้ความรุนแรงของการระบาดยังไม่มาก แต่รัฐบาลใช้มาตรการ Lock down ห้ามการเดินทางเข้าออกต่างประเทศ และมาตรการเคอร์ฟิวในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจซึ่งอาการไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ปีที่ 2562 เริ่มได้รับผลกระทบ แม้รัฐบาลเริ่มมีมาตรการเยียวยาด้วยเงินงบประมาณตามปกติและเงินกู้เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเคยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปี 2563 แต่โชคไม่ดีที่เกิดการระบาด COVID-19 ตามมาในรอบ 2 ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวต้องติดลบทุกไตรมาส ส่งผลให้การขยายตัวตลอดทั้งปี 2563 ติดลบถึง 6.1%

ผลกระทบดังกล่าว เมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่าในภาพรวมภาคเกษตรในปีปกติ เริ่มติดลบมาตั้งแต่ปี 2562 ประมาณ 0.6% เมื่อเกิดการระบาด ปี 2563 ต้องติดลบมากขึ้นทั้งปีถึง 3.4%

ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวในอัตราต่ำอยู่แล้วใน ปี 2562 การขยายตัวทั้งปีเป็นศูนย์และเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องทั้งปี จึงส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมรุนแรงในทุกไตรมาสตลอดปี 2563 ติดลบไปถึง 5.9%

ภาคบริการปกติยังคงขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีตลอดปี 2562 แต่ในที่สุดก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ตลอดทั้ง ปี 2563 การขยายตัวของภาคบริการติดลบทุกไตรมาส 1.2% ถึง 12.1% และการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาบริการทั้งปีติดลบถึง 6.5%

ขณะที่ตลาดแรงงานดูเหมือนจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2563 แต่มีการระบาดของ COVID-19 ถึงสองรอบ เมื่อดูตัวเลขของการว่างงานโดยเปิดเผย (open Unemployment) พบว่า ในปี 2563 หลังไตรมาส 1 การว่างงานเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส 2 เท่า รวมมากกว่า 7 แสนคน

การระบาดของ COVID-19 ถึง 2 รอบในปีเดียว ทำให้มีผู้มีตำแหน่งงาน แต่ไม่ได้ทำงานเพิ่มขึ้นรุนแรงกว่าในสภาวะปกติเป็นอย่างมาก เช่น ปี 2562 ในแต่ละไตรมาสมีคนไม่ได้ทำงานอยู่ในช่วง 0.15-0.62 ล้านคน แต่ปี 2563 มีคนไม่ได้ทำงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 0.39-2.52 ล้านคน ขณะที่การระบาดรอบ 3 ที่รุนแรงมากที่สุดนี้ ตลาดแรงงานจะเป็นเช่นไรคงต้องติดตามต่อไป

ผลกระทบจาก COVID-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้แรงงานตกงานเท่านั้น แต่บางส่วนแม้มีงานทำแต่ไม่สามารถทำงานได้ไม่เต็มที่  เต็มเวลา (40 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์) จากข้อมูลสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ไตรมาส 3) พบว่า มีแรงงานไม่ได้ทำงานแต่มีงานประจำ 0.18 ล้านคน ทำงาน 1-19 ชั่วโมง มีจำนวน 1.09 ล้านคน ทำงาน 20-39 ชั่วโมง9.42 ล้านคน รวม   10.69 ล้านคน

แรงงานประมาน 10 ล้านคนเหล่านี้มีความเดือดร้อนแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าทำงานได้มากหรือน้อย ซึ่งพวกเขายังต้องการความช่วยเหลือทางการเงินชนิดให้เปล่าเต็มจำนวนหรือร่วมจ่าย รัฐจึงยังจำเป็นต้องเยียวยาต่อไปจนถึงสิ้นปี  รวมทั้งแรงงานนอกระบบ ที่มีประมาณกว่า 20 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลมีบัญชีรายชื่ออยู่หมดแล้วอย่างน้อยคนละ 3 พันบาทต่อเดือน

และเมื่อประชากรไทยได้รับวัคซีนครบ 100% แล้ว การปรับตัวของประเทศทำได้อย่างราบรื่น ความเชื่อมั่นไว้วางใจก็จะกลับมา ทั้งเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะฟื้นตัวตามมาได้เอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเยียวยาด้วยเงินมหาศาลอีกต่อไป

ดังนั้น ทรัพยากรของรัฐต้องให้ความสำคัญมากที่สุดกับการได้มาซึ่งวัคซีนป้องกัน COVID-19 จะแพงเท่าใดก็ต้องซื้อและฉีดให้คนไทยทุกคนให้ได้โดยเร็ว เราเสียเงินเป็นล้านๆ บาทมาแล้วกับมาตรการอื่นๆ จะเสียอีกแสนล้านบาทเพื่อพยุงชีวิตและเศรษฐกิจถือว่าคุ้มค่า

และต้องไม่ลืมเรื่องรัฐสวัสดิการช่วยเหลือเยียวยาผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้มีภาวะพึ่งพิง ให้เขามีชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ (Decent life and living) ได้ต่อไป รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการ (Real sector) โดยเฉพาะ SMEs ด้วยการหยุดเลือดที่ไหลจากผลกระทบของ COVID-19 แล้วช่วยเติมเลือดใหม่ให้พวกเขาเพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และในที่สุดได้กลับเข้ามาเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็งต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง.

บทความโดย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์

162020364319