พังเพราะนาย

พังเพราะนาย

คนเก่งหลายคนกลายเป็นคนด้อยค่า ทั้ง ๆที่ฝีมือไม่ได้ตกต่ำ แต่บังเอิญไปทำงานกับนายใหญ่ผิดคน

ใครก็ตามที่รู้สึกหมดความเชื่อมั่นในฝีมือของตนเอง ให้ลองดูพฤติกรรมของคนที่เราทำงานให้ด้วยว่า มีส่วนทำให้เรารู้สึกด้อยค่าลงบ้างหรือไม่ ก่อนที่จะทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองจากผลงานของนายใหญ่ มีงานศึกษาของอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องนี้  ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Harvard Busines Review ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว โดยเรียกอาการนี้ว่า Set-up-to-fail syndrome

ก่อนเกิดอาการนี้ผู้บริหารกับบุคลากรต่างทำงานร่วมกันไปด้วยดี บุคลากรมีความรักความศรัทธาในผู้บริหาร แต่ต่อมาผู้บริหารขุ่นเคืองเรื่องเล็กเรื่องน้อยที่เกิดมาจากบุคลากรคนนั้น แล้วเอามาทำเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต อ่านเฟซบุ๊คลูกน้องหน้าเดียวแล้วชักเคืองเลยตะลุยอ่านทั้งหมด เจอถ้อยคำที่จริงๆ แล้วเป็นแค่สำนวนตามภาษาสื่อสังคม อยู่ๆก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วตามมาด้วยการจ้องตามผลงานทุกผลงานของคนนั้นอย่างใกล้ชิด ทำอะไรผิดเป้าไปนิดไปหน่อย กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที ในขณะที่เรื่องทำนองเดียวกันเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนอื่น ขัดใจนิดเดียวฉันเฝ้าแกทุกเรื่อง

เริ่มต้นจากเรื่องไม่ถูกใจเล็ก ๆน้อย ๆ ประกอบกับผลงานพลาดเป้านิดหน่อย ช้าไปวันสองวันในเรื่องไม่สำคัญ  นายใหญ่จะลงมาทำMicromanagement คือยึดอำนาจการตัดสินใจแทบทั้งหมดจากคนนั้นมาไว้ที่ตัวเอง เหมือนจับมือทำงาน บุคลากรกลายเป็นแค่หุ่นยนต์ที่ทำได้เฉพาะที่นายใหญ่โปรแกรมไว้  ทำให้คนที่เคยเชื่อว่าตนเองทำงานได้ดี พบว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด แถมนายใหญ่ลงมากำกับในทุกขั้นทุกตอน ต่างไปจากที่เคยทำมาแต่ก่อน

ใคร ๆก็นึกว่าตนเองผิดพลาดไปเยอะมากแน่ ๆ เพราะเจ้านายที่เคยดีด้วยแต่ก่อนนั้น วันนี้ทั้งด่าทั้งคุมงานจนกระดิกตัวแทบไม่ได้ เมื่อยังไม่รู้ตัวว่ากำลังพังเพราะนายใหญ่ ย่อมรู้สึกว่าตนเองด้อยค่าลง เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่คนดีของนายใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการแก้ปัญหาก็ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ

อีกทั้งระแวงว่าผลงานจะไม่ดี เลยยิ่งทำงานช้าลงไปอีก นายใหญ่เลยยิ่งคิดว่าไอ้คนนี้ใช้ไม่ได้ ด่าแล้วงานก็ยังช้าอีก กลายเป็นการเพิ่มความหลงผิดของนายใหญ่ให้มากขึ้นไปอีก

เมื่อเชื่อมั่นไปเองว่าคนนี้ใช้ไม่ได้ นายใหญ่ก็เก็บอาการไม่อยู่ ทำตัวกับคนนั้นแตกต่างไปจากเดิม ที่แต่ก่อนเจอใครต่อใครก็บอกว่าคนนี้เก่งอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นเจอใครก็บอกว่าแย่อย่างงั้นอย่างงี้แทน อาการไม่เชื่อฝีมือ อาการไม่ชอบหน้าปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

บุคลากรคนนั้นจะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบโต้ โจมตีมาก็หาทางโจมตีกลับ ด่ามาก็นินทากลับ เพราะหมดความรักความศรัทธาไปแล้วจากการกระทำของนายใหญ่ จึงปกป้องตนเองอย่างเต็มที่   การงานก็เลยทำตามสั่ง ทำแล้วอะไรผิดพลาดขึ้นมาก็โยนไปว่าทั้งหมดที่ทำล้วนแต่ทำตามสั่งทั้งสิ้น ถ้าพังก็พังเพราะทำตามนายสั่ง ไม่ได้คิดอะไรเองเลย แถมยังบอกว่าทุกขั้นตอนนายใหญ่ก็รู้อยู่แล้ว เพราะท่านลงมาคุมทุกขั้นอยู่แล้ว บุคลากรเปลี่ยนจากลูกน้องที่ทุ่มเทให้เจ้านาย กลายเป็นหุ่นยนต์ทำตามสั่ง

ถ้าทบทวนกันให้ดี จะพบว่าการที่ลูกน้องดี ๆ กลายเป็นลูกน้องแย่ ๆ ไม่ใช่เพราะการงานเกินฝีมือ การงานเกินขีดความสามารถ แต่เป็นเพราะอาการของเจ้านาย จุดเริ่มต้นของความล้มเหลวนี้อยู่ที่ตัวนายใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าบุคลากรจะปรับตัวยกขีดความสามารถขึ้นมากแค่ไหน นายใหญ่ก็ยังว่าแย่อยู่ดี ผลของ Set-up-to-fail syndrome  มีแค่สองทางคือลูกน้องต้องเปลี่ยนเจ้านาย คือย้ายงาน หรือ ลูกน้องที่เคยเก่งเหมือนราชสีห์ด้อยค่าตนเองลงไปเป็นแมวง่อย ทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป

วิกฤติทำให้ทำงานเหมือนเดิม แต่ได้ผลแย่ลงได้เสมอ ดังนั้นความผิดพลาดเล็ก ๆน้อย เกิดขึ้นได้เสมอท่ามกลางวิกฤติ ขออย่าได้ทำความผิดพลาดเล็ก ๆให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต เพราะนั่นคือจุดตั้งตนของการที่เจ้านายจะทำให้ลูกน้องพัง ส่วนลูกน้องที่เจอเจ้านายที่มีอาการนี้ คำแนะนำมีอย่างเดียวคือหาเจ้านายใหม่ก่อนที่จะพังเพราะนาย.