มองการลงทุนในญี่ปุ่น Automation แห่งเอเชีย

มองการลงทุนในญี่ปุ่น Automation แห่งเอเชีย

ในคอลัมน์ฉบับก่อนหน้านี้ ผมได้เกริ่นถึงการกระจายการลงทุนในตลาดต่างประเทศ โดยมองว่า ตลาดในภูมิภาคเอเชีย

 น่าจะได้รับอานิงสงค์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของสหรัฐฯรวมถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และประเทศที่ผมแนะนำ และมองว่ามีปัจจัยบวกซ่อนอยู่หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้น คือ ประเทศญี่ปุ่น คนไทยเราคุ้นเคยและนิยมไปเที่ยวกัน บ่อยๆ สวยงามทั้ง ธรรมชาติ วัฒนธรรม แต่เนื่องจากบทความนี้ไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้นจากตรงนี้เป็นต้นไปเราจะมาดูกันว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับโลก และยังเป็นผู้นำในด้านการผลิตแบบ Automation มีศักยภาพในการฟื้นตัวท่ามกลาง วิกฤติ Covid 19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างไร

ผมขอเริ่มที่ภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบันก่อน ญี่ปุ่นได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมทั้งในเรื่องการจ้างงาน และค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายในประเทศ จากการฟื้นตัวของยอดค้าปลีกที่เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกัน การฟื้นตัวของภาคการผลิต/อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังคงได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจ (Reopen Cycle) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการรายงานดัชนี PMI เบื้องต้นด้านการผลิตเดือน เม.ย. ที่ยังคงขยายตัว (มากกว่าร้อยละ 50) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลต่อกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคบริการ  ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นจนทำให้มีการใช้มาตรการเพื่อป้องการกันการแพร่ระบาด COVID-19 กลับมาเริ่มบังคับใช้ในกรุงโตเกียว โอซากา และอีก 2 จังหวัดใกล้เคียง เพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงโดยเร็วที่สุดก่อนการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่คาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 23 ก.ค. นี้  สำหรับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนนั้น จำนวนผู้ได้รับวัคซีนยังถือว่าล่าช้า โดยสามารถฉีดวัคซีนได้เพียง 1% ของประชากร ซึ่งถือว่ามีความล่าช้ากว่ากำหนดการของรัฐบาลที่มีความพยายามจะฉีดวัคซีนให้กับประชากร 50% ในช่วงเดือน มิ.ย - ก.ค.

ด้านการดำเนินนโยบายทางการคลัง ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีการใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 และกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการสินเชื่อสำหรับธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหา ส่วนนโยบายทางการเงิน ยังคงเน้นการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือการใช้มาตรการ QE รวมถึงการใช้มาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว  ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการบริการ และการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เห็นการเร่งตัวของของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง

              ในมุมมองของผม ญี่ปุ่นถือว่าศักยภาพมีพร้อม แค่รอความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการเริ่มเปิดเมืองในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยุโรป (จากการได้รับวัคซีนได้เร็วขึ้น) ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นตลาดหลักของ ญี่ปุ่น  แต่โดยพื้นฐานของประเทศญี่ปุ่น คือ แหล่งแห่งการผลิต ถึงจะมีศักยภาพด้านเทคโนโลยี และ ดิจิตอล แพลตฟอร์ม แต่ธุรกิจหลักยังมาจากภาคการผลิต ในอุตสาหกรรมรถยนตร์ และสินค้าดิจิตอล  ดังนั้น หากมองการลงทุนไปข้างหน้า ตลาดผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ผมมองว่าบริษัทต่างๆ ด้านเทคโนโลยี ต้องเริ่มกลับมาปรับตัว เพื่อช่วงชิงตลาดผู้บริโภคนี้ ปัจจัยเหล่านี้อาจจะเป็นจุดพลิกฟื้นของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นหลังจากที่ดูนิ่งๆมานาน การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นผู้นำในการผลิตระดับโลก และเน้นการเติบโตในระยะยาว ในมุมของการลงทุนถือว่าน่าสนใจ หากมองด้านสถานะทางการเงินบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นยังไม่มีข่าวลบหรือความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงิน โดยส่วนใหญ่บริษัทจะเน้นสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นในระยะยาว ดังนั้น หากท่านใดที่ยังสนใจการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ในสถานการณ์ที่ตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯราคาอาจจะเริ่มสูงหรือต้องรอจังหวะการลงทุน การจัดสรรเงินของท่านบางส่วนเพื่อกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกครับ