โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่ (2)

โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่ (2)

ในอนาคตคนที่จะประสบความสำเร็จคือคนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา

โลกหลังโควิดจะเต็มไปด้วยความผันผวนและความไม่แน่นอน อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่เชื่อมให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกัน การปรับตัวของคนรุ่นใหม่ต่อแนวโน้มเหล่านี้เริ่มจากการเข้าใจในความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตามด้วยทักษะการเรียนรู้ภาษาที่ 3 และความสามารถในการทำงานในที่ใดก็ได้ในโลกใบนี้

ต่อกันในประการที่ 4 ต้องเข้าใจเรื่องของ Digitalization เพราะโลกยุคปัจจุบันเราสามารถอยู่รอดได้ในธุรกิจด้วยการเป็นผู้ใช้ระบบอันทันสมัยต่าง ๆ เช่นโซเชียลคอมเมิร์ซ บิ๊กดาต้า เอไอ ฯลฯ แต่ในอนาคตการเป็นเพียง “ผู้ใช้” อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะต้องพัฒนาให้ไกลกว่านั้น นั่นคือเราต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ต้องรู้จักภาษาดิจิทัล อาจไม่ต้องลงลึกถึงการเขียนโปรแกรมแต่ต้องเข้าใจวิธีคิดและวิธีแก้ปัญหาในแอพลิเคชั่นต่าง ๆ การคิดแบบเป็นระบบโดยเฉพาะ Logical Thinking จึงสำคัญมากสำหรับการทำงานในอนาคต

เพราะในอนาคตจะเป็นยุคที่ต่างคนต่างใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหมือน ๆ กัน ความได้เปรียบจากการใช้เทคโนโลยีพื้นฐานจึงไม่มีความหมาย แต่ใครที่มองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดอย่างไรต่างหากจะเป็นผู้ได้เปรียบในระยะยาว

รวมถึงทักษะในการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำงานในอนาคต เมื่อบวกกับความเข้าใจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้ตรงจุดก็จะยิ่งสร้างความได้เปรียบและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไป

ประการที่ 5 ต้องก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เคยเป็นปิดกั้นในอดีต ยกตัวอย่างเช่นความคิดที่เคยปิดกั้นคนในสมัยก่อนว่าเรียนอะไรมาก็ต้องประกอบอาชีพตามที่ร่ำเรียนมาเท่านั้น เรียนบัญชีมาก็ต้องทำบัญชี หรือเรียนช่างก็ต้องเป็นช่าง ฯลฯ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จได้ในทุกวันนี้กลับไม่มีข้อจำกัดเหล่านี้ในความคิดของเขาเลย

โลกในอนาคตจะไม่ยึดติดกับการเรียนรู้ในระบบ แต่จะเน้นความหลากหลายและส่งเสริมให้แต่ละคนมีทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ยืดหยุ่น ในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะในยุโรปเน้นให้เด็กเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในอนาคตเช่นการเขียนโปรแกรม หรือการใช้หุ่นยนต์ ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย

ในขณะที่ทักษะอื่น ๆ เช่นดนตรี กีฬา ไปจนถึงวิชาการต่าง ๆ ก็เน้นที่การประยุกต์ใช้จริง ๆ เพราะเขารู้ว่าเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะมีความรักความชอบหรือมีพรสวรรค์ในเรื่องใด เช่นด้านดนตรี เขาจะรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่องานดนตรีได้อย่างตรงจุดเพราะเรียนรู้มาตั้งแต่ยังเล็กความสามารถในการเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมโยงศาสตร์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

แม้จะเรียนวิทยาศาสตร์​ หรือวิศวกรรมศาสตร์มา ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านการบริหาร ฯลฯ การก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการเรียนในระบบจึงต้องอาศัยการเปิดกว้างทั้งในมุมมองของผู้เรียนที่ต้องขวนขวยรับความรู้ใหม่ ๆ ในทุกด้าน และผู้สอนที่ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเป็นไปของโลกธุรกิจ

ประการที่ 6 คือคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะความสำเร็จของเขาจะไม่ยึดติดกับสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา เขาจึงต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลาเพื่อสร้างโอกาสในอนาคต เพราะความรู้ที่เรียนมาอาจล้าสมัยได้ใน 5-10 ปีข้างหน้า แต่โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงทุกนาที สภาพแวดล้อมทางธุรกิจก็เปลี่ยนไปทุกวัน คนที่จะประสบความสำเร็จได้จึงไม่ใช่คนที่เรียนหนังสือได้เก่งที่สุดเสมอไป แต่คนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลาและปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เสมอต่างหากจะเป็นที่สำเร็จได้ก่อนคนอื่น