จีดีพีกับรัฐมนตรีพลังงาน

จีดีพีกับรัฐมนตรีพลังงาน

สัปดาห์นี้มีการถกเถียงกันผ่านสื่อและสังคมออนไลน์ เรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเสนอให้ชาวไทยนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เนื้อหาของข้อเสนอ หรือเชิญชวนได้รับการสรุปออกมาว่า ถ้าชาวไทยนำเงินออมที่ฝากไว้ในธนาคาร 5-6 แสนล้านบาทออกมาใช้ มันจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 3-4%  การขยายตัวนี้ใช้มาตรที่เรียกว่า “จีดีพี” เป็นตัวชี้วัด 

“จีดีพี” เป็นอักษรย่อของ Gross Domestic Product ซึ่งแปลว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศและเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง  อย่างไรก็ดี คงจะมีผู้ใช้และผู้อ่าน หรือฟังไม่มากนักที่เข้าใจจริง ๆ ว่ามันหมายถึงอะไร คำนวณออกมาอย่างไร ครอบคลุมและไม่ครอบคลุมอะไร ฯลฯ  คอลัมน์นี้พยายามชี้แจงหลายครั้งในหลายบริบท  ล่าสุดเป็นบทความประจำวันที่ 6 กย. 2562 เรื่อง “การสร้างจีดีพีด้วยวิธีสามานย์” (ภาค 2

การมีความเข้าใจในความตื้นลึกหนาบางของ “จีดีพี” ไม่ทัดเทียมกันดูจะเป็นที่มาสำคัญของการถกเถียงกันเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐมนตรีพลังงาน  ในการถกเถียกกันนั้นไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่าตัวรัฐมนตรีเองเข้าใจลึกซึ้งเพียงไรและข้อเสนอนั้นหากประชาชนจำนวนมากทำตามจะทำให้เกิดอะไร  เนื่องจากเรื่องนี้มีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่มีความกว้างลึกสูง จึงจะพูดถึงได้เพียงบางประเด็นเท่านั้น

ในเบื้องแรก จีดีพีที่เกิดจากข้อเสนอของรัฐมนตรีพลังงาน อาจสร้างผลเสียหายร้ายแรงมากกว่าผลดี เนื่องจากการใช้จ่ายนั้นอาจเป็นจำพวกการเข้าไปชมการแข่งขันชกมวยในสนามที่มีความแออัดสูงและการเข้าไปใช้บริการในสถานบันเทิงต่าง ๆ รวมทั้งในซอยทองหล่อซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของจีดีพีแน่นอน  แต่มันเป็นจีดีพีที่นำไปสู่การระบาดของไวรัสโควิด-19ระลอกที่ 1 และระลอกที่ 3  การระบาดนี้มีความเสียหายใหญ่หลวงตามมารวมทั้งการเจ็บป่วยและล้มตายซึ่งคงไม่มีใครต้องการ 

เนื่องจากจีดีพีมีความสามานย์ มันจึงนับค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเจ็บป่วยและล้มตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีที่เพิ่มขึ้นอีกทอดหนึ่งด้วย  ฉะนั้น ในขณะที่เศรษฐกิจซบเซาเพราะประเทศตกอยู่ในภาวะปัจจุบัน การมองด้านการชักชวนให้ใช้จ่ายเพียงด้านเดียวอาจเป็นการคิดสั้นเพราะมันอาจเกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

ประเด็นที่สอง ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูงซึ่งอาจนำไปสู่การตกงาน หากการชักชวนนั้นได้ผล คนไทยในสัดส่วนที่สูงขึ้นอาจเพิ่มการใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตแต่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นด้วย  หากพวกเขาต้องตกงานและขาดรายได้ในสภาพที่ไม่มีเงินออมเหลืออยู่ พวกเขาจะทำอย่างไร?  ภาครัฐจะรับภาระเลี้ยงดูพวกเขาหรือ?

ประเด็นที่สาม ในเงินออม 5-6 แสนล้านบาทนั้นอาจคาดเดาได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นของชนชั้นเศรษฐี ซึ่งน่าจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อหาอะไรมาเพิ่ม  หากพวกเขาทำหมายถึงการนำไปสู่การใช้ทรัพยากรโลกโดยไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น  การชักชวนให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนี้จึงย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่บอกว่าจะยึดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของการบริหารประเทศ

เกี่ยวกับประเด็นนี้ เนื่องจากชนชั้นเศรษฐีมีศักยภาพทางการเงินที่จะใช้จ่ายได้โดยไม่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่การตำเนินชีวิตของตัวเอง รัฐบาลอาจเชิญชวนพวกเขาให้เข้ามาร่วมโครงการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ยากจน หรือตกงานและในด้านการรักษาพยาบาลก็ได้  ในการเชิญชวนนี้ รัฐบาลอาจแสดงความจริงใจด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐในด้านเหล่านั้นพร้อมกับลดการใช้จ่ายในด้านที่ไม่มีความเริ่งด่วน หรือยืดหยุ่นได้ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งต้องส่งเงินไปใช้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอยู่แล้ว 

เนื่องจากจีดีพีมีความบกพร่องมากมายรวมทั้งด้านความสามานย์ดังกล่าว ปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์จึงพยายามสรรหาทางเลือก หรือปรับปรุงให้มันดีขึ้นมานาน  ณ วันนี้ยังไม่มีข้อสรุปซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าจะทำอย่างไร  การใช้จีดีพีเป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจจึงต้องทำด้วยความเข้าใจในข้อบกพร่องของมัน.