แนวโน้มการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ยานพาหนะประเภทรถยนต์ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของประชาชน เห็นได้จากจำนวนยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ ไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแต่อย่างใด

 รถยนต์ยังกลายเป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจและทางสังคมของผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย เนื่องจากความนิยมในชื่อยี่ห้อและราคาของรถยนต์ที่มีความแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ราคาไม่สูงมากจนถึงราคาแพงย่อมมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อมาเป็นเจ้าของของประชาชน

            ความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์รวมถึงความต้องการในการใช้รถยนต์ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะเป็นจุดเชื่อมโยงอย่างหนึ่งที่นานาประเทศรวมถึงประเทศไทยนำมาใช้จัดเก็บภาษีอากร ดังจะเห็นได้จากกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีแต่ละชนิด เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้ารถยนต์ ภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ ภาษีประจำปีรถยนต์ อากรแสตมป์ที่เกี่ยวกับรถยนต์ หรือภาษีศุลกากรจากการนำเข้าหรือส่งออกรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีข้างต้นก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศอย่างมหาศาล

            ผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ใน Consumption Tax Trends 2020: VAT/GST and Excise Rates, Trends and Policy Issues พบว่า รถยนต์มีการจัดเก็บภาษีหลายชนิด ได้แก่

1) ภาษีที่จัดเก็บจากการซื้อและจดทะเบียนรถยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่า

2) ภาษีที่จัดเก็บเป็นประจำทุกปีจากการเป็นเจ้าของหรือการใช้รถยนต์

3) ภาษีที่จัดเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์

4) ภาษีที่จัดเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน

5) ภาษีชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของหรือการใช้รถยนต์ เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีประกันภัย ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจากการใช้ทางด่วน หรือภาษีที่จัดเก็บจากการขนส่ง เป็นต้น

            นอกจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นเป้าหมายประการหนึ่งของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์แล้ว การจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ยังมีเป้าหมายในการลดผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการคมนาคม (Transport externalities) อีกด้วย ตัวอย่างของผลกระทบภายนอกทางลบ เช่น มลภาวะที่เกิดจากการใช้รถยนต์หรือการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและนำมาซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate change) เป็นต้น ดังนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปและในอนาคต แนวโน้มของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์จะเป็นการจัดเก็บภาษีเพื่อเป้าหมายในการลดผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการคมนาคมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากจำแนกการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ออกเป็นการจัดเก็บภาษีจากการขายและจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ และการจัดเก็บภาษีจากความเป็นเจ้าของและการใช้รถยนต์แล้ว หลายประเทศได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษี โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ประชาชนในประเทศหันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มมากขึ้น

1) การจัดเก็บภาษีจากการขายและจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ มีการนำมูลค่าของรถยนต์ (Value) การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ (Fuel efficiency) น้ำหนักของรถยนต์ (Weight) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emissions) เชื้อเพลิงของรถยนต์ (Type of fuel) กำลังแรงม้า (Engine power) ความจุกระบอกสูบ (Cylinder capacity) อายุของรถยนต์ (Vehicle age) อัตราการใช้เชื้อเพลิง (Fuel consumption rating) ประเภทของรถยนต์ (Type of vehicle) อุปกรณ์ความปลอดภัย (Safety equipment) อุปกรณ์บำบัดไอเสีย (Anti-pollution equipment) แบบตัวถัง (Body type) รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric propulsion) หรือน้ำหนักบรรทุกสูงสุด (Max laden mass) เป็นต้น มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษี

2) การจัดเก็บภาษีจากความเป็นเจ้าของและการใช้รถยนต์ มีการนำประเภทของรถยนต์ที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และและรถยนต์ส่วนบุคคล (Commercial or private use) น้ำหนักรถยนต์ (Gross vehicle mass) กำลังแรงม้า (Engine power) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 emissions) รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric propulsion) น้ำหนักบรรทุกสูงสุด (Loading capacity) ราคารถยนต์ (Commercial value) น้ำหนักกดเพลาล้อ (Maximum permitted weight on axles and number of axles) ประเภทของระบบรับน้ำหนัก (Type of suspension) จำนวนเพลาล้อ (Number of axles) จำนวนที่นั่ง (Number of seats) หรือพื้นที่ในการใช้รถยนต์ (Region) เป็นต้น มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษี

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นถูกนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ในแต่ละประเทศ ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมในกฎหมายภายในของแต่ละประเทศแต่อาจมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่มีความแตกต่างกันไป เช่น รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่าเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ารถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบน้อยกว่า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้รับการยกเว้นภาษี รถยนต์ใหม่เสียภาษีในอัตราภาษีที่น้อยกว่ารถยนต์เก่า หรือการยกเว้นหรือลดภาษีให้กับแบตเตอรี่ที่นำมาใช้เป็นพลังงานของรถยนต์ เป็นต้น

นอกจากนี้เนื่องด้วยสถานการณ์ความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานปิโตรเลียม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเป้าการใช้พลังงานที่สะอาดโดยเฉพาะพลังงานสะอาด อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และความต้องการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงานของประชาชน เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้จะร่วมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์และกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน

ในท้ายสุดนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีแนวโน้มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยที่นำมาเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นถูกนำมากำหนดไว้ในกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายการสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าทั้งสองเป้าหมายนี้สามารถคำนวณและกำหนดออกเป็นตัวเลขได้ทั้งสิ้น.

บทความโดย ผศ.ดร.กฤษรัตน์  ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์