ความเห็นต่าง...สร้างความรู้

ความเห็นต่าง...สร้างความรู้

ภารกิจหลักของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) คือ การวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย

ข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ. ศ. 2560 หากพิจารณาเจตนารมณ์อันแท้จริงของ พรบ. ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า การวินิจฉัยคดีย่อมขึ้นกับดุลยพินิจที่เป็นอิสระต่อกันของ กขค. แต่ละท่าน และเมื่อต้องใช้ดุลพินิจนั่นหมายความว่า ดุลพินิจนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ และความเข้าใจใน พรบ. การแข่งขันฯ พ. ศ. 2560 เป็นสำคัญ

กรณีตัวอย่างที่นำมาเทียบเคียงเพื่อแสดงให้เห็นถึงดุลพินิจที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ และความเข้าใจ คือ

บริษัท ก. (ผู้ร้อง) เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวของบริษัท ข. (ผู้ถูกร้อง) โดยจัดจำหน่ายสินค้าผ่านหน่วยรถ กล่าวคือ บริษัท ก. มีหน้าที่ในการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัท ข. ผ่านหน่วยรถให้กับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือ “โชห่วย” (Traditional Trade) โดยมีเส้นทางการจัดจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสมุทรปราการและปทุมธานี ส่วนการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ทางบริษัท ข. จะเป็นผู้จัดจำหน่ายโดยตรง

บริษัท ก. ได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ว่า ไม่ได้รับการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมจากบริษัท ข. เนื่องจากบริษัท ข. ได้ปรับลดเส้นทางการจัดจำหน่ายของบริษัท ก. ไปให้กับตัวแทนจำหน่ายรายอื่นในพื้นที่รับผิดชอบเดียวกัน ส่งผลให้บริษัท ก. ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการขายตามที่บริษัท ข. กำหนดได้ จึงนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัท ก. จากบริษัท ข.

ดังนั้น สขค. จึงได้แต่งตั้งคณะปฏิบัติงานเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และนำผลที่ได้ทั้งหมดเสนอต่อ กขค. เพื่อให้คำวินิจฉัย

ข้อมูลที่คณะปฏิบัติงานฯ เสนอต่อ กขค. ได้กำหนดขอบเขตตลาดของคดีนี้โดยขอบเขตตลาดด้านสินค้าหรือบริการ (Product Dimension) คือ “ธุรกิจจัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวผ่านหน่วยรถ” และขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Dimension) คือ “ทั้งประเทศ” โดยให้เหตุผลว่า การจำหน่ายขนมขบเคี้ยวครอบคลุมกระจายทั่วประเทศไทย ผลปรากฏว่า ความเห็นในเรื่องการกำหนดขอบเขตตลาดของคดีนี้ กขค. มีความเห็นต่าง โดยแยกออกเป็น 3 ฝ่ายดังนี้

กขค. ในฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นสอดคล้องกับคณะปฏิบัติงานฯ ในส่วนของขอบเขตตลาดด้านสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ กขค. ในฝ่ายนี้มีความเห็นว่า ไม่ใช่ทั่วทั้งประเทศ หากแต่ขอบเขตด้านภูมิศาสตร์ควรจำกัดอยู่เพียง “เส้นทางการจัดจำหน่ายในพื้นที่ ที่บริษัท ก. เป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น” เพราะเป็นไปไม่ได้ที่บริษัท ข. จะจัดสรรเส้นทางการจัดจำหน่ายเดิมที่เป็นของบริษัท ก. ให้กับผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ข. รายอื่นที่อยู่ในจังหวัดที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และปทุมธานี ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้สอดคล้องกับคำให้การของพยานผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

กขค. ในฝ่ายที่สอง มีความเห็นว่า ขอบเขตตลาดด้านสินค้าหรือบริการคือ “สินค้าขนมขบเคี้ยว” โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะบริษัท ข. เป็นผู้ผลิตสินค้าขนมขบเคี้ยว และรายได้ที่นำมาใช้ประเมินสถานภาพทางธุรกิจว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ คือรายได้จากการขายสินค้าขนมขบเคี้ยวในทุกช่องทาง ในส่วนของขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์คือ “ทั่วประเทศ” ทั้งนี้เป็นเพราะสินค้าขนมขบเคี้ยวมีการกระจายขายไปทั่วประเทศ

ในส่วนของ กขค. ในฝ่ายที่สาม มีความเห็นสอดคล้องกับ กขค. ฝ่ายที่สองในส่วนของขอบเขตตลาดด้านสินค้าหรือบริการ แต่เห็นต่างในส่วนของขอบเขตตตลาดด้านภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ควรมีขอบเขตเพียง “พื้นที่ในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และพื้นที่บางส่วนของสมุทรปราการและปทุมธานี”

อย่างไรก็ตาม กขค. ในฝ่ายที่หนึ่งได้อธิบายแย้งความเห็นของ กขค.ในฝ่ายที่สองว่า สัญญาระหว่างบริษัท ก. และบริษัท ข. คือ สัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวผ่านหน่วยรถ ซึ่งคือธุรกิจบริการ และรายได้ที่นำมาประเมินการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ต้องเป็นรายได้ของบริษัท ข. ที่เกิดจากตัวแทนจำหน่ายสินค้าผ่านหน่วยรถไปยังร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเท่านั้น โดยนำรายได้นั้นไปเทียบเคียงกับบริษัทคู่แข่งของบริษัท ข. ที่มีการจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกันผ่านหน่วยรถไปยังร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเช่นกัน และอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อคำนวณหาส่วนแบ่งตลาดต่อไป หาใช่การนำรายได้รวมทั้งหมดจากการจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวของบริษัท ข. มาประเมิน

ในขณะเดียวกันยังได้อธิบายแย้งความเห็นของ กขค. ในฝ่ายที่สามว่า ถ้ากำหนดขอบเขตตลาดสินค้าคือ ขนมขบเคี้ยว ขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ต้องมีขอบเขตทั่วประเทศ หาใช่จำกัดเพียงแค่พื้นที่ ที่เป็นเขตรับผิดชอบของบริษัท ก.

ที่สุดแล้วในคดีนี้ กขค. มีมติเป็นเอกฉันท์ โดยเห็นว่า พฤติกรรมทางการค้าของบริษัท ข. ไม่เข้าลักษณะเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการดำเนินการตามสัญญาระหว่างผู้ร้องและผู้ถูกร้อง จึงมีมติให้ยุติเรื่อง และให้ สขค. เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยต่อสาธารณชนตามมาตรา 29 (12) แห่ง พรบ. การแข่งขันฯ พ. ศ. 2560 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากผลคำวินิจฉัยที่เผยแพร่ได้.