AstraZeneca vaccine: How common are blood clots

AstraZeneca vaccine: How common are blood clots

คนไทยจะต้องพึ่งพาวัคซีนของ AstraZeneca-Oxford เป็นหลักในการป้องกันการเป็นโรค COVID-19

แต่มีข่าวออกมามากมายเกี่ยวกับความเสี่ยงที่การฉีดวัคซีนดังกล่าว อาจมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงถึงเสียชีวิต คือเกิดลิ่มเลือด (blood clot) ซึ่งผมพบบทวิเคราะห์ที่ค่อนข้างละเอียดของ CNN เมื่อวันที่ 8 เมษายน ผมจึงขอนำเอาบทวิเคราะห์ดังกล่าวมาสรุปให้อ่านกันในตอนนี้ครับ

            หลังจากการพบหลักฐานว่า การฉีดวัคซีนของ AstraZeneca (AZ) อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือลิ่มเลือดอุดตันที่สมองและที่ท้องได้ในประเทศยุโรปในเดือนมีนาคม หน่วยงานที่รับผิดชอบของยุโรปคือ European Medicines Agency (EMA) และของอังกฤษคือ UK MHRA จึงได้นำเอาข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาและได้ประกาศผลการพิจารณาและข้อสรุปออกมาให้สาธารณชนทราบเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

  1. ในกรณีของ EMA นั้นยอมรับว่า
    • “there is a possible causal association” กล่าวคือเป็นไปได้ที่จะมีความเชื่อมโยงกันระหว่างการฉีดวัคซีน AZ การเกิดลิ่มเลือด
    • แต่ EMA ก็ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงคำแนะนำให้สามารถฉีดวัคซีน AZ ได้ต่อไป เพราะประโยชน์ที่พึงได้รับนั้นมีมากกว่าอันตรายที่ อาจเกิดขึ้นซึ่งที่มีความเสี่ยงที่ต่ำมาก
    • อย่างไรก็ดีหลายประเทศในยุโรปเพิ่มข้อกำหนดของตนเองโดยแนะนำให้ฉีดวัคซีน AZ สำหรับผู้สูงอายุเป็นหลัก (อายุ 50-60 ปีหรือมากกว่า)

ในส่วนของยุโรปนั้นมีรายงานว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีน AZ แล้วเกิดลิ่มเลือดขึ้นทั้งหมด (ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2021) 86 ราย เป็นลิ่มเลือดที่สมอง 62 ราย (เรียกว่า cerebral venous sinus thrombosis หรือ (CVST)) และลิ่มเลือดที่ท้อง (เรียกว่า splanchnic vein thrombosis) 24 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 18 ราย ทั้งนี้จากการฉีดวัคซีน AZ รวมทั้งสิ้น 25 ล้านเข็มทำให้ EMA สามารถสรุปได้ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่เป็นภัยอันตรายต่อชีวิตนั้นมีอยู่ค่อนข้างต่ำมากคือประมาณ 1 ใน 100,000 ราย

อย่างไรก็ดีในส่วนของข้อมูลของยุโรปนั้นไม่ได้แบ่งแยกในรายละเอียดออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น เพศชายหรือเพศหญิงและไม่ได้แบ่งตามอายุ สาเหตุเพราะมีตัวอย่างกรณีการป่วยน้อยรายจึงคงไม่มีความมั่นใจว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนได้ในเชิงสถิติ อย่างไรก็ดี EMA มีข้อสังเกตว่าผู้ป่วย “ส่วนใหญ่” นั้นเป็นผู้หญิงอายุน้อยกว่า 60 ปี

สำหรับประเทศอังกฤษนั้นก็ยอมรับว่า “ความเชื่อมโยง” (link) กันระหว่างการฉีดวัคซีน AZ กับการเกิดลิ่มเลือด โดยพบการเกิดลิ่มเลือดที่รุนแรง (serious blood clot) ทั้งสิ้น 79 ราย (ตัวเลขถึงวันที่ 31 มีนาคม) และมีผู้เสียชีวิต 19 รายเป็นผู้หญิง 51 คน ผู้ชาย 28 คน แต่ทั้งนี้ก็ได้ฉีดวัคซีน AZ ให้กับผู้หญิงในจำนวนที่สูงกว่าผู้ชายด้วย โดยฉีดไปแล้ว 20 ล้านเข็ม

161875938148

ที่น่าสนใจคืองานวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge ที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงในการแถลงข่าวด้วยดังข้อสรุปปรากฏในตารางข้างต้นนี้ ซึ่งพยายามประเมิน “ผลดี-ผลเสีย” ของการฉีดวัคซีน AZ โดยในคอลัมน์แรกนั้นคือการประเมินว่าการฉีดวัคซีน AZ จะให้ประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงอาการป่วยหนักจนต้องนำตัวเข้ารักษาในห้อง ICU ต่อ 100,000 กรณีที่เกิดการเป็นโรค COVID-19 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสำหรับคนที่อายุ 20-29 นั้น มีโอกาสป่วยหนักต้องเข้าไปรักษาตัวในห้อง ICU เพียง 0.8 คนต่อ 100,000 คน (ในช่วงเวลา 16 สัปดาห์)

 แต่ในขณะเดียวกัน คนอายุน้อยดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการลิ่มเลือดเท่ากับ 1.1 คนต่อ 100,00 คน เป็นผลให้ UKMHRA แนะนำว่าสำหรับคนกลุ่มดังกล่าวนั้นควรเลือกฉีดวัคซีนประเภทอื่นที่ไม่ใช่ AZ จะดีกว่า แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่านั้นก็ยืนยันว่ายังควรรับการฉีดวัคซีน AZ เพราะประโยชน์ที่พึงจะได้รับนั้นสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอย่างมาก เช่นในกรณีของผู้ที่มีอายุ 60-69 ปีนั้น มีเพียง 0.2 คนต่อ 100,000 คน (หรือ 2 คนต่อ 1 ล้านคน) ที่จะเกิดลิ่มเลือดแต่จะช่วยให้ 14.1 คนไม่ป่วยหนักจนต้องเข้าไปรักษาตัวในห้อง ICU

นอกจากนั้นก็ยังได้มีการประเมินอีกว่าการฉีดวัคซีน AZ ที่ต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็มนั้นเมื่อฉีดเข็มแรกไปแล้วจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้สูงถึง 73% (และสูงถึง 90% เมื่อฉีดเข็มที่ 2) ทั้งนี้มีข้อสรุปด้วยว่าเมื่อฉีดวัคซีน AZ แล้ว ความเสี่ยงที่จะป่วยหนักจนต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลจะลดลงไปมากกกว่า 80%

ประเด็นสุดท้ายคือการเกิดลิ่มเลือดนั้นเป็นเรื่องของพันธุกรรมหรือไม่เพียงใด ซึ่งได้มีการประเมินว่าที่ยุโรปนั้นน่าจะมีคนที่มียีนที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือด (คือยีน Factor V Leiden) ประมาณ 3% ถึง 15% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ US CDC ประเมินว่ามีประชาชนสหรัฐประมาณ 5%  ถึง 8% ที่มียีนที่ทำให้มีความเสี่ยงดังกล่าว

การจะเกิดหรือไม่เกิดลิ่มเลือดนั้นให้สังเกตอาการที่ผิดปกติที่ยืดเยื้อเกินกว่า 1 สัปดาห์ เช่น การหายใจไม่ค่อยออก (shortness of breath) อาการเจ็บหน้าอก การบวมของขา อาการปวดท้องเรื้องรัง การปวดหัวอย่างหนัก การมองเห็นที่พร่ามัวและเม็ดเลือดใต้ผิวหนัง (blood spots under the skin) ทั้งนี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของเยอรมนีชี้แจงว่าอาการลิ่มเลือดนั้นสามารถรักษาได้โดยไม่ยาก โดยโรงพยาบาลขนาดกลางและขนาดใหญ่จะสามารถทำการรักษาได้เพราะมีอาการเหมือนกับการแพ้ยาละลายลิ่มเลือดคือ Heparin ซึ่งมีใช้มาตั้งแต่ปี 1916 (105 ปี) มาแล้วครับ.