กำเนิดความรับผิดชอบ

กำเนิดความรับผิดชอบ

จุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนง่าย สามารถบ่มเพาะคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ปัญหาใหญ่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีประการหนึ่งคือเรื่องของการหา “คนที่ใช่” มาร่วมทีมงาน เพราะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนมากแล้ว เจ้าของไม่ชอบการสอนงานให้กับพนักงานใหม่เพราะกลัวคนอื่นมาเรียนรู้กระบวนการทำงานของตัวเองและเอาไปทำตามอย่างในภายหลัง

ครั้นจะหาพนักงานที่มีประสบการณ์เพียบพร้อมเพียงพอจะทำงานได้ก็ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร เพราะไม่ใช่แค่ประสบการณ์เท่านั้นที่บริษัทต้องการ แต่ยังมี “ความรับผิดชอบ” ด้วยที่หาได้ยากไม่แพ้กัน ฉบับที่แล้วผมได้เกริ่นเอาไว้ว่า ลำพังแค่สถาบันการศึกษาทุกระดับก็อาจไม่มากพอที่จะสร้างให้เด็กรุ่นใหม่มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบพอเพียงต่อการเติบโตเพื่อมาทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง

ตัวอย่างของประเทศที่ขื้นชื่อในเรื่องการบ่มเพาะเยาวชนให้มีระเบียบวินัยคงหนีไม่พ้นญี่ปุ่นและเยอรมันนี โดยเฉพาะชาวเยอรมันที่เน้นให้เยาวชนทุกคนมองเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน การมีระเบียบวินัย จึงช่วยสร้างความพร้อมให้เด็กรุ่นใหม่พร้อมทำงานรับใช้สังคมและประเทศชาติในอนาคต การสั่งสอนเด็กๆ ของเขาจึงมุ่งหวังให้รับผิดชอบตัวเองได้ดีเสียก่อน

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว พ่อแม่ชาวเยอรมันจะไม่หยิบเสื้อกันหนาวมาเตรียมพร้อมให้ลูกๆ แต่จะให้ลูกรู้ตัวเองว่าควรใส่เสื้อแบบไหนจึงจะอบอุ่นเพียงพอ นั่นคือเขาต้องรู้วิธีการปรับตัวเมื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่กำลังมาถึง

หากพ่อแม่คอยเตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมสรรพ เด็กๆ ย่อมไม่เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง หากเด็กๆ ถามว่าควรแต่งตัวแบบไหนแล้วพ่อแม่จัดการให้ทั้งหมด เขาก็อาจคิดเองไม่เป็นเมื่อเจอสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในอนาคต

รวมไปถึงเรื่องการจัดเตียงและเก็บกวาดห้องนอนให้เรียบร้อย ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่สลักสำคัญอะไรนัก แต่นั่นเป็นพื้นฐานในการสร้างระเบียบวินัยที่พ่อแม่ชาวเยอรมันส่วนใหญ่ใช้บ่มเพาะลูกหลาน เพราะเขาเชื่อว่าเตียงนอนของตัวเองหากไม่รับผิดชอบแล้วจะรับผิดชอบเรื่องที่ใหญ่กว่าได้อย่างไรในอนาคต

เช่นเดียวกับชาวญี่ปุ่นที่นอกจากเน้นเรื่องระเบียบวินัย และความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ค่านิยมอีกประการหนึ่งที่ปลูกฝังให้แก่เด็กทุกคนก็คือความละเอียดอ่อนที่สะท้อนให้เห็นในชีวิตประจำวันของเขา ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก วิถีชีวิต ไปจนถึงธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้จากการใส่ใจในความละเอียดอ่อนของเขาเอง

เราจะเห็นได้จากสินค้าต่างๆ ที่มาจากญี่ปุ่นจะมีบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างและโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ขนม ฯลฯ ล้วนมีซองหรือกล่องบรรจุที่สวยงาม และพิถีพิถันในรายละเอียดสูงมาก เช่นเดียวกับสินค้าของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกได้เพราะอาศัยจุดขายเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นมักมองข้าม

ข้อสรุปจากการบ่มเพาะเยาวชนของทั้งเยอรมันนีและญี่ปุ่นมีอยู่ 3 ประการที่เหมือนกันนั่นคือประการแรก “รู้จักจัดการ” ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน บ้าน หรือของเล่น ฯล​ฯ ยิ่งมีเยอะ ยิ่งต้องจัดการให้เป็นระเบียบ อย่าปล่อยให้รกจนหาสิ่งที่ต้องการไม่เจอ

การจัดการจะบ่มเพาะให้เด็กรู้จักแยกแยะว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ อะไรควรทิ้ง อะไรควรเก็บ เริ่มจากของใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงวัยเรียนที่ต้องจัดการกับหนังสือและสมุด ไปจนถึงวัยเริ่มทำงานที่ต้องเจอเอกสารจำนวนมาก ทำให้เขาจัดการรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ดีขึ้นทีละน้อยๆ

ประการที่สอง “ไม่ซื้อเวลา” ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง โดยเขาต้องเห็นเองว่ายิ่งซื้อเวลาจะยิ่งต้องทำงานมากขึ้น ยิ่งรอช้าเพื่อไปทำอย่างอื่นอาจต้องยุ่งยากมากขึ้น การจัดการเรื่องง่ายๆ ต้องรีบทำในทันที ของทุกอย่างใช้แล้วต้องเก็บ ไม่มีข้อยกเว้น

ประการสุดท้ายคือ “ทำจนเป็นนิสัย” ไม่ใช่เพียงเพราะถูกพ่อแม่สั่ง เหมือนเวลาเราเดินทางไปวัดในญี่ปุ่นจะเห็นเขาเรียงรองเท้าเป็นระเบียบเรียบร้อย แม้เราจะถอดแล้ววางไม่เป็นที่ ก็จะถูกคนอื่นจับมาวางเข้าแถวให้สวยงามเพราะเป็นนิสัยของเขา

จุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนง่ายๆ เหล่านี้ สามารถบ่มเพาะคนให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพและกลายเป็นกำลังสำคัญให้ภาคธุรกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อ