อย่าลืมนโยบายการเงิน

อย่าลืมนโยบายการเงิน

ข่าวหนึ่งที่ทำให้เศร้าใจคือ การจากไปของ Robert Mundell ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

ด้วยความที่ผู้เขียนจบด้านนี้มาโดยตรง ทำให้ต้องศึกษางานของอาจารย์ที่เป็นรากฐานของเศรษฐศาสตร์มหภาคและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ รวมถึงได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายของอาจารย์เมื่อครั้งที่ท่านได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ทำให้อดไม่ได้ที่ต้องหวนระลึกถึงงานของท่านที่เป็นประโยชน์ต่อวงการเศรษฐศาสตร์ และเป็นรากฐานของแนวคิดของผู้เขียนจนถึงปัจจุบัน

 

งานของท่านอาจารย์ที่ตรึงใจผู้เขียนที่สุด หาใช่งานที่มีชื่อว่า Optimum Currency Area หรือเขตเงินตราที่เหมาะสม อันเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การกำเนิดของเงินยูโร หรือจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการลดภาษี เพื่อสนับสนุนการผลิตและการบริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน อันเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ด้านอุปทาน (Supply-side Economics) อันเป็นแนวคิดหลักของนโยบายเศรษฐกิจยุคทศวรรษที่ 1980s ของประธานาธิบดีเรแกนของสหรัฐ และนายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แทตเชอร์ ของอังกฤษแต่อย่างใดไม่

 

แต่เป็นงานที่เป็นพื้นฐานของการทำนโยบายเศรษฐกิจ ที่อาจารย์มันเดลล์คิดร่วมกับอาจารย์มาคัส เฟลมมิ่ง (Marcus Fleming) และนำไปสู่นโยบายการเงิน-การคลังที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

 

ปกติเมื่อผู้คนทั่วไปพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ มักจะคิดถึงนโยบายการคลัง อันได้แก่การเพิ่มหรือลดภาษี และ/หรือ การใช้จ่ายของรัฐเป็นหลัก ในขณะที่หากคิดถึงนโยบายการเงิน ก็มักจะคิดถึงการเพิ่มหรือลดดอกเบี้ย โดยหากเศรษฐกิจร้อนแรง ธนาคารกลางก็จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น แต่หากเศรษฐกิจซบเซา ทางแก้หนึ่งคือการลดดอกเบี้ย (ซึ่งในทางปฏิบัติคือการเพิ่มปริมาณเงินในระบบจนดอกเบี้ยที่เป็นราคาของเงินลดลง) ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง ผู้คนก็อยากจะกู้ยืมเพื่อจับจ่ายและลงทุนมากขึ้น

 

แต่อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่สิ่งที่จะชี้วัดปริมาณเงินได้ในทุกสถานการณ์ ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนขาดความเชื่อมั่น ต่อให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยอย่างไรก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะผู้คนไม่มั่นใจในอนาคต จึงไม่กู้เงิน ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่มั่นใจว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปจะกลายเป็นหนี้สูญ (NPL) หรือไม่

 

หากกล่าวในศัพท์เศรษฐศาสตร์ กรณีนั้นแปลว่าอัตราการหมุนของเงิน (Money velocity) ลดลง หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ เงินไม่หมุน ซึ่งสาเหตุหลักคือระบบธนาคารไม่ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งทางแก้ของกระบวนการดังกล่าวคือ การเพิ่มปริมาณเงินไปอย่างมหาศาล อันเป็นที่มาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) โดยมีตรรกะที่ว่าการอัดปริมาณเงินไปเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้การหมุนของเงินลดลง ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติอย่างสูงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่จะช่วยเสนอความคิดเห็นให้กับแบบจำลองนโยบายการเงินใหม่ที่ได้รวมถึงเครื่องมือทางการเงินยุคใหม่ เช่น การให้ Soft loan การพักชำระหนี้ การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงการควบคุมเส้นผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) เข้าร่วมกับเครื่องมือหลักของนโยบายการเงิน อันได้แก่ การลดดอกเบี้ย ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ มีส่วนช่วยทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพขึ้น

 

ผู้เขียนเองก็ชื่นชมกับแบบจำลองยุคใหม่ รวมถึงความพยายามของนักเศรษฐศาสตร์ของ ธปท. ที่พยายามปรับแบบจำลองเพื่อให้รวมผลของเครื่องมือใหม่ที่คำนวณในเชิงตัวเลขได้ยาก ทำให้เห็นภาพของนโยบายการเงินอย่างครอบคลุมมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าเครื่องมือหลักในการทำนโยบายการเงินคือการเพิ่มหรือลดปริมาณเงินเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางสภาวะที่อัตราการหมุนของเงินลดลงอย่างต่อเนื่องตามสภาวะเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน

 

หรือหากกล่าวอย่างง่ายคือ เศรษฐกิจแย่ เงินไม่หมุน ทางแก้คือต้องเพิ่มปริมาณเงินขึ้นมาก (กว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง) ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้น เงินบาทจะอ่อนค่าลง รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ผู้ส่งออกมีรายได้มากขึ้น จ่ายเงินเดือนพนักงานมากขึ้น ค่าจ้างเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อเริ่มขึ้น เศรษฐกิจเริ่มผลิตเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น  พนักงานบริษัทส่งออกก็นำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น ผู้ผลิตในประเทศขายของได้มากขึ้น ก็จะขึ้นเงินเดือนพนักงานง่ายขึ้น และเริ่มลงทุนมากขึ้น

 

หากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ของเราเทียบกับคู่ค้าคู่แข่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า NEER เราแข็งกว่า 24% ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2015 เป็นต้นมา นั่นแปลว่าเราเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับคู่ค้าคู่แข่งของเรากว่า 24% ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา นั่นแปลว่า เราเล่นตามกติกา แต่คู่ค้าคู่แข่งของเรา ไม่ได้เล่นอย่างที่เราเล่น ค่าเงินเขาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเรา ก็จะทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขันไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเราอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ผู้เขียนได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการทำนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจาก (1) การที่ ธปท. ลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท. ที่มีอยู่ในระบบกว่า 5.5 แสนล้านบาทนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งชดเชยกับการที่กระทรวงการคลังต้องออกพันธบัตรเพิ่มขึ้นกว่า 5.5แสนล้านบาทเช่นเดียวกัน ทำให้สภาพคล่องในระบบไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยไม่ผันผวนมากนัก (ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า การทำ QE โดยพฤตินัย) และ (2) ปริมาณทุนสำรองของไทยที่ลดลงกว่า 6.1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ธปท. เข้าช่วยแทรกแซงค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงอย่างมีเสถียรภาพ

 

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนเชื่อว่า ธปท. ยุคปัจจุบันเริ่มมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินมีเสถียรภาพขึ้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกในยุคปัจจุบัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา ธปท. เป็นคน "ดีเกินไป" มาหลายปี ทำให้เราเสียความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางเศรษฐกิจการเงินโลกที่แข่งขันอย่างดุเดือด

 

อย่าลืมว่า นโยบายการเงินหาได้มีแต่การปรับดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่