Gig Economy : ภาษีและแรงงานดิจิทัล

Gig Economy : ภาษีและแรงงานดิจิทัล

การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี เป็นที่มาของอาชีพประเภทใหม่ ที่เรียกว่า Gig Worker ไม่จำเป็นต้องมีนายจ้าง ไม่สังกัดองค์กร และรับงานได้อิสระ

       จากการพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนแพลตฟอร์มออนไลน์หลากหลายรูปแบบ อันเป็นที่มาของอาชีพประเภทใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีนายจ้าง ไม่สังกัดองค์กร และมีความอิสระในการรับงาน หรือที่เรียกว่า “Gig Worker” บทความฉบับนี้จะชี้ให้เห็นถึงแนวทางการจัดทำนโยบายและการจัดเก็บภาษีจากอาชีพประเภทใหม่นี้

 

        เริ่มต้นจาก Gig Economy

        หากจะเข้าใจ Gig worker ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า เทรนด์ของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มในการพึ่งพาเทคโนโลยีในการขับเคลื่อน หรือที่เรียกว่า Gig Economy หรือ Platform Economy โดย ILO (International Labour organization) ได้ตีความโดยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของภาคแรงงานว่าหมายถึง การที่เศรษฐกิจอยู่ในรูปแบบ On-Demand โดยอาศัยการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมของบุคคลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ด้วยรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ “งาน” อยู่บนรากฐานของแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ App ต่าง ๆ ที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้รับบริการ

 

        Gig worker แรงงานดิจิทัล

        ดังนั้น Gig Worker จึงเป็น แรงงานดิจิทัล (Web-based digital labour) ที่สามารถ “ทำได้ทุกที่” ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยความสำเร็จของงานมีทั้งที่ใช้ช่องทางออนไลน์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น บริการทำเว็บไซต์ บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ หรือ ยังอาศัยช่องทางกายภาพ (off-line) อยู่บ้างแต่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการรับคำสั่งซื้อหรือจับคู่ความต้องการ (Local-based digital labour) เช่น บริการของ Ride-hailing เจ้าต่าง ๆ การขายสินค้าออนไลน์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้ช่องทางออนไลน์ทั้งหมดหรือมีการใช้ช่องทาง off-line ผสม สาระสำคัญอยู่ตรงที่ว่า “กิจกรรมเหล่านี้ ก่อให้เกิดเงินได้” และสมควรเสียภาษีไม่ต่างจากแรงงานปกติในระบบ


        แนวทาง OECD : การแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม

        OECD ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และปัญหาการจัดเก็บภาษีของภาครัฐที่จะทำได้ยากขึ้นในอนาคต จึงได้ออกแนวทางเรื่อง “Model Rules for Reporting by Platform Operators with respect to Sellers in the Sharing and Gig Economy” เพื่อกำหนดให้แพลตฟอร์ม (Platform Operators) มีหน้าที่เก็บข้อมูลและรายงานต่อภาครัฐเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มของตน (Platform Seller) เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขที่ผู้เสียภาษี เป็นต้น

 

ทั้งนี้ แนวทางฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐ (automatic exchange of information) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการให้บริการออนไลน์บนแพลตฟอร์มที่อาจมีการให้บริการข้ามประเทศ เช่น งานบริการตามความต้องการของลูกค้า หรืองานบริการ On-Demand ต่าง ๆ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงงานประเภทที่เป็นสัญญาจ้าง หรืองานบริการที่เป็นส่วนหนึ่งของการขายสินค้า

 

        สรรพากรสหรัฐเปิด “Gig Economy Tax Center”

        สหรัฐฯ เริ่มจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมออนไลน์ ประเภท “Gig Work” โดยสรรพากรสหรัฐฯ ได้อธิบายว่า หมายถึง กิจการงานที่มีลักษณะเป็นอาชีพอิสระ (Independent Contractor/Self-employed) โดยบุคคลนั้นมีเงินได้จากการขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งมักอยู่ในรูปแบบงาน on-Demand ผ่านช่องทางดิจิทัลที่ดำเนินการผ่าน App หรือ เว็บไซต์  เช่น งานขายของออนไลน์ งานบริการขับรถขนส่งให้บริการที่มีการเรียกผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่ว่างานนั้นจะมีลักษณะเป็นงานประจำ งาน part-time หรือ side work และไม่ว่าค่าตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในรูปแบบเงินสด ทรัพย์สิน หรือเงินดิจิทัล ที่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ให้ถือว่าผู้มีเงินได้จากกิจกรรมดังกล่าว มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ต่อสรรพากร

        จุดที่น่าสนใจของสรรพากรสหรัฐ คือ ให้ผู้เสียภาษีเก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเงินได้ และยื่นเสียภาษีแบบเฉลี่ยเป็นรายไตรมาส (estimated tax)  หรือสี่ครั้งต่อปี ได้แก่ ในทุกวันที่ 15 ของเดือน ม.ค. เม.ย มิ.ย. และ ก.ย.

 

        สำหรับประเทศไทย

        หากพิจารณาในด้านแรงงาน Gig worker อาจถือเป็นแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน เพราะกฎหมายแรงงานและประกันสังคมในปัจจุบันได้ถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของระบบแรงงานรูปแบบเดิม ซึ่งผูกกับระบบการหักเงินสมทบผ่านรายได้ประจำ ดังนั้น ความคุ้มครองทางกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาจยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานอิสระหรือ Gig worker ที่อยู่นอกระบบได้อย่างสมบูรณ์

        หากพิจารณาในด้านภาษีของ Gig Worker รายได้ที่ Gig Worker ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึ่งประเมินประเภทหนึ่ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายรวมถึง “เงิน ทรัพย์สินอันอาจคำนวณได้เป็นเงิน หรือประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ที่ได้รับจริง” (โดยใช้เกณฑ์เงินสด) ซึ่งเมื่อได้รับเงินได้เหล่านั้นมาแล้วและกฎหมายไม่ได้กำหนดยกเว้นไว้สำหรับเงินได้รายการดังกล่าว แปลว่า ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องชำระภาษีในเงินได้นั้นด้วย

        ในทางปฏิบัติ ภาระภาษีของ Gig worker ในไทยอาจเกิดได้ในสองลักษณะ
          1) ให้บริการผ่าน App หรือ แพลตฟอร์มต่าง ๆ และ App ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว กรณีนี้ Gig worker รายนั้น มีหน้าที่ยื่นแบบและเสียภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และหากไม่ยื่น หรือยื่นไม่ครบ ข้อมูลที่ได้มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วโดย app จะถูกใช้เป็นฐานข้อมูลของสรรพากรในการประเมิณภาษีย้อนหลังพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มในอนาคต แต่หากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดก็อาจได้รับเงินภาษีที่หักไว้แล้วคืน

        2) กรณีเป็นงานอิสระอื่นใดที่ไม่ได้มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้ ในกรณีนี้ Gig worker รายนั้นจะมีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษี ก็ต่อเมื่อเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด เช่น หากมีรายได้จากเงินเดือนอย่างเดียวตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไปใน 1 ปี หรือมีรายได้อื่น ๆ ตั้งแต่ 60,000 บาท ต้องยื่นแบบแสดงภาษี ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เสียภาษีต้องทำการสำรวจรายได้ของตัวเองในปีภาษีที่ผ่านมา และควรศึกษาวิธีการหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีที่เงินได้เกิดขึ้นเพื่อใช้สำหรับการยื่นรายการภาษีให้ถูกต้องประกอบด้วย
  
        ท้ายที่สุด
Gig Worker คือ รูปแบบการทำงานในยุคใหม่ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันอาจต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาเพื่อให้รองรับบริบทการจ้างงานแบบใหม่ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต.

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)