บทเรียนจาก 'ผู้นำ'  สร้างองค์กร Wellness

บทเรียนจาก 'ผู้นำ'   สร้างองค์กร Wellness

คุณกำลังสนุกกับงานที่ท้าทาย ทำงานภายใต้ความกดดัน ได้คิดได้ทำสิ่งใหม่ ๆ บนความคาดหวังจากคนรอบตัว ที่อยากเห็นคุณเป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าที่คุณคิด

บางครั้งต้องแลกด้วยการนั่งทำงานยาว ๆ หยิบขนมเข้าปากไป พิมพ์งานไป และยอมอยู่ดึกจนต้องสละเวลาออกกำลังกาย และเวลากับคนที่คุณรัก หรือไม่?

มีคนจำนวนมากที่เพลินกับการทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ท้าทาย คิด step เดียวไม่พอ ต้องคิดนอกกรอบและล่วงหน้าไปหลาย step เผลอแป๊บเดียว เมื่อหันกลับมามองตัวเองอีกที ก็เริ่มมีนิสัยและวิธีใช้ชีวิตที่ไม่ healthy ไปแล้ว

ในเวลาที่เราสนุกกับงาน แม้มันจะเหนื่อยหรือกดดันก็ตาม อาจทำให้เราตกหลุมดำที่จะดูแลตนเอง

แม้หลายองค์กรจะมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่รณรงค์ให้พนักงานดูแลสุขภาพ แต่คนหมู่มากกลับมองเป็นแค่กิจกรรมที่จัดขึ้นโดยฝ่ายบุคคล น้อยคนที่เห็นความสำคัญของโปรแกรมในการช่วยบริหารความเครียด ช่วยเพิ่มความว่องไวทั้งในแง่ความคิด การตัดสินใจ และช่วยให้ทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่สำคัญวัฒนธรรมองค์กรกลับไม่ได้ส่งข้อความที่สอดคล้องกันให้พนักงานเห็นว่า การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

ดิฉันได้มีโอกาสอ่านบทความหนึ่ง เขียนโดย Naz Beheshti อดีตผู้ช่วยของ Steve Jobs ที่เล่าให้ฟังว่า มีความเข้าใจผิดว่า Steve Jobs เป็นคนบ้างาน จนไม่ดูแลตัวเอง เราคงไม่ปฏิเสธความสามารถของเขาในเรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์ และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน” 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากความมีวินัยในการดูแลตัวเอง เขาฝึกสมาธิ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเอง อีกทั้งแวดล้อมด้วยครอบครัวที่อบอุ่นความล้มเหลวของเขาในฐานะผู้นำองค์กรก็คือ เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีแก่พนักงานของเขา ในทางตรงข้าม เขากลับเหวี่ยง เหยียด กดดันคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น 

ความขัดแย้งนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ก่อตั้งและผู้นำด้านนวัตกรรมจำนวนมากที่ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้

Steve Jobs ได้สอนบทเรียนอันล้ำค่าให้กับบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดและคนทำงานทั่วโลก เกี่ยวกับสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตและอาชีพการงานอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพที่ดีของเราจะขับเคลื่อนความสำเร็จของเรา และความมั่งคั่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา คือความเป็นอยู่ที่ดีของเรานั่นเอง

สำคัญกว่านั้น คือ ความสำเร็จที่ยั่งยืนในระยะยาวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณในฐานะผู้นำองค์กรดูแลตัวเอง และดูแลพนักงานของคุณด้วยในเวลาเดียวกัน หากคุณสุขภาพดีคนเดียว แต่พนักงานพัง นี่ไม่ใช่คำตอบแห่งการนำธุรกิจที่มีความยั่งยืน#TorchBearer#LeadershipACT#LeadingWell#LeadershipWellness