ประเด็นสำคัญที่ควรมีในวาระการประชุม

ประเด็นสำคัญที่ควรมีในวาระการประชุม

จากสถานการณ์โควิดและ Disruption ที่เกิดขึ้น ทำให้วาระการประชุมของทั้งกรรมการและผู้บริหารองค์กรต่างๆ ต้องมีการปรับตัวกันไปอย่างมาก

นอกเหนือจากวาระที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจ รวมทั้งวาระต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีแล้ว ยังมีวาระที่สำคัญอีก 5 ประเด็นที่ควรจะถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุม (ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร) ประกอบไปด้วย

  1. Future Disruption - ความสนใจของคนทั่วไปอาจจะอยู่กับ Disruption ที่ผ่านมาแล้วหรือกำลังเกิดขึ้น แต่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูง ที่จะต้องมองทิศทางขององค์กรในอนาคต Future Disruption จึงเป็นสิ่งที่ควรจะต้องให้ความสนใจ ถึงแม้สิ่งที่จะเกิดในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ความพยายามที่จะให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงได้ร่วมกันตระหนักถึงโอกาสหรือภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้มีการคิดเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า อีกทั้งทำให้ได้มีมุมมองและทัศนคติในการมองภาพไปในอนาคตมากกว่ามองแค่อดีตหรือปัจจุบัน
  2. โลกใบเก่า vs โลกใบใหม่ - จากกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้องค์กรทุกๆ แห่งจะไม่สามารถดำเนินงานด้วยรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ที่เป็นมาในอดีตได้ การหาหรือสร้างโลกใบใหม่ เพื่อการเติบโตต่อไปขององค์กรกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น โลกใบเดิมที่อยู่ (และเคยประสบความสำเร็จมาในอดีต) จะไม่ช่วยทำให้เติบโตและประสบความสำเร็จต่อไป ดังนั้นประเด็นเกี่ยวกับการสร้างโลกใหม่ หรือ ธุรกิจใหม่ หรือ new S-Curve ควรจะต้องเป็นวาระที่สำคัญในการประชุมต่างๆ โดยโลกใบใหม่นี้ก็จะต้องครอบคลุมทั้งกลยุทธ์ใหม่ Business model ใหม่ บุคลากรสายพันธุ์ใหม่ ฯลฯ อย่างไรก็ดีสำหรับบางองค์กร โลกใบเก่า ก็ยังจำเป็นและต้องรักษาไว้ด้วย ดังนั้นความท้าทายที่จะต้องคุยกันให้ชัดเจนคือการหาความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างโลกใบเก่าและโลกใบใหม่
  3. ความเสี่ยง การบริหารภายใต้วิกฤติ และการบริหารความต่อเนื่อง - ถึงแม้จะมีการคุยกันเรื่องของ Future Disruption แต่ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกๆ องค์กรคือการ “ไม่รู้ในสิ่งที่ไม่รู้” ทำให้เป็นไปไม่ได้ในการป้องกันหรือที่จะเตรียมการไว้ล่วงหน้า ดังนั้นระบบการบริหารความเสี่ยง การบริหารเมื่อเกิดวิกฤติเกิดขึ้น และแนวทางในการบริหารองค์กรให้เกิดความต่อเนื่องภายใต้เหตุวิกฤติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องตระเตรียมไว้ หลายครั้งผู้บริหารเองอาจจะคิดว่าได้คิดและทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้ครบถ้วนแล้ว แต่การมีกรรมการที่มาจากอุตสาหกรรมที่แตกต่าง และมีประสบการณ์มาจากองค์กรอื่น จะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายและช่วยในการคิดให้ถี่ถ้วนรอบคอบขึ้น
  4. การบริหารโดยมี Purpose และ ESG - เป็นที่รับรู้และยอมรับแล้วว่าเรื่องของ ESG (Environment, Social, Governance) เป็นเรื่องที่จะกระทบต่อองค์กรธุรกิจต่างๆ (โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฯ) และสืบเนื่องจาก ESG ก็ทำให้เรื่องของการบริหารโดยมี Purpose เป็นศูนย์กลางและจุดตั้งต้น กลายเป็นที่สนใจของผู้บริหารจำนวนมาก แนวคิดเรื่อง Purpose-Driven Strategy หรือ Purpose-Driven Organization จะได้มีการนำมาปรับใช้มากขึ้น ดังนั้นผู้บริหารแต่ละองค์กรก็ต้องมีการพูดคุยและถามกันว่าองค์กรตนเองพร้อมแค่ไหนสำหรับเรื่อง ESG และเริ่มทบทวน Purpose ของตนเองว่าองค์กรของตนนั้นตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร และมีผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้อื่นบ้างหรือไม่
  5. บุคลากร - เรื่องบุคลากรเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ในวาระการประชุมระดับบริหารเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดโควิดและ Disruption ผู้บริหารจะต้องใส่ใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานมากขึ้น นโยบายว่าจะให้พนักงานกลับเข้าทำงานเต็มเวลาหรือจะปรับเป็น Hybrid Workplace ก็เป็นสิ่งที่ต้องคุยและสื่อสารให้ชัดเจน และถ้าตัดสินใจที่จะนำ Remote work มาใช้ ระบบการบริหารและดูแลบุคลากรก็จะต้องปรับเปลี่ยนด้วย

        ทั้ง 5 ประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมกรรมการหรือผู้บริหารขององค์กรต่างๆ นอกเหนือจากวาระปกติ และจะช่วยให้องค์กรได้เตรียมตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น.