เราจะฟื้นเศรษฐกิจรูปตัว K อย่างไร

เราจะฟื้นเศรษฐกิจรูปตัว K อย่างไร

วัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ต้องถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน

เพราะทั่วโลกขณะนี้วิเคราะห์ว่าวัคซีนจะทำให้การระบาดลดลงและนำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีในหลายประเทศรวมถึงไทย การฟื้นตัวคงจะไม่สมดุล แต่จะฟื้นแบบตัวอักษร K คือมีคนส่วนน้อยที่จะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัว เป็นท่อนลากขึ้นบนของตัว K ขณะที่คนส่วนใหญ่ความเป็นอยู่อาจเหมือนเดิมหรือทรุดลง แม้เศรษฐกิจจะ “ฟื้นตัว” เป็นท่อนล่างลาดลงของตัว K เพราะเข้าไม่ถึงหรือไม่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่ผู้ทำนโยบายต้องตระหนัก และท้าทายว่าจะฟื้นเศรษฐกิจรูปตัว K  อย่างไร 

เรื่องนี้ สองอาทิตย์ก่อน ผมได้ข้อมูลจากเพื่อนในวงสนทนาของผมในต่างประเทศ คุณนิโคลาส คอลิน (Nicolas Colin) นักวิชาการและนักธุรกิจชาวฝรั่งเศสที่เขียนหนังสือเรื่อง Hedge ซึ่งดังมาก ที่ได้เข้าร่วมเสวนาในประเด็นนี้ และได้ให้ข้อคิดหลายอย่างที่น่าสนใจ วันนี้เลยอยากเขียนเรื่องนี้ โดยผสมผสานแนวคิดของเขาและผม เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาเพื่อประโยชน์ของการทำนโยบายในบ้านเรา 

วิกฤติโควิด-19 สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนโควิด แต่เป็นเรื่องที่ไม่ได้ตระหนักกันทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำนโยบาย

1. วิกฤติคราวนี้เป็นตัวเร่งหลายเรื่องที่มีอยู่ก่อน หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ได้ก่อตัวก่อนโควิดให้เกิดเร็วขึ้น และเมื่อหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ขณะที่เราไม่ได้เตรียมตัว เราจึงมองวิกฤติโควิดเป็นดิสรัปชั่นใหญ่ที่เข้ามากระทบชีวิตความเป็นอยู่ปกติที่เคยมี ตัวอย่างเช่น แนวโน้มความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจหรือ Entrepreneurship ของคนรุ่นใหม่ที่อยากเติบโตเป็นเจ้าของกิจการมากกว่าเป็นลูกจ้าง แนวโน้มที่นักลงทุนสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) แนวโน้มที่บริษัทรุ่นเก่าจะต้องปรับตัว หรือค้นหาตัวเองใหม่เพื่อให้แข่งขันได้  แนวโน้มที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมาแรงแทนห้างและร้านขายของ แนวโน้มที่บางประเทศจะปรับตัวได้ แต่บางประเทศจะถอยหลัง หรือ แนวโน้มที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้สังคมต้องการให้ภาครัฐสนใจและให้ความสำคัญกับมาตรการช่วยเหลือทางสังคม (Social Safety Net) มากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นต้น

 เหล่านี้คือสิ่งที่กำลังก่อตัวอยู่ก่อนโควิด แต่ไม่มีใครสนใจ หรือรู้แต่ไม่ทำอะไรเพราะไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ วิกฤติโควิดจึงเร่งให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏให้เห็นเร็วขึ้น แต่ที่น่าห่วงคือ แม้สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นแต่ผู้ทำนโยบายส่วนใหญ่ยังตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ทัน ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร และยังหวังให้โลกกลับไปเหมือนเดิมก่อนโควิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้

 2. วิกฤติโควิดชี้ให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหารุนแรงในเศรษฐกิจโลก ที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เมื่อเศรษฐกิจเกิดวิกฤติและต้องตกงาน ต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นหลัก เพราะไม่มีสินทรัพย์หรือเงินเก็บออมที่จะใช้ดูแลตัวเองยามวิกฤติ ตรงข้ามกับคนส่วนน้อยในสังคมที่เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ มีสินทรัพย์ สามารถอยู่ได้อย่างสบายและมีรายได้แม้ประเทศจะเจอวิกฤติที่รุนแรง ที่สำคัญ ผลของโควิดจะทำให้คนสองกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากวิกฤติต่างกัน การกระจายรายได้ในระบบเศรษฐกิจจึงจะยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น นี่คือที่มาของเศรษฐกิจรูปตัว K

3. วิกฤติคราวนี้แสดงชัดเจนว่า รัฐบาลมีอำนาจมากและในกรณีของเราอาจมีอำนาจมากเกินไป (too powerful) คือ ผู้ที่มีตำแหน่งการเมืองในรัฐบาลสามารถใช้อำนาจทางการเมืองที่มีได้อย่างเต็มมือ สั่งให้ประชาชนทำอะไรก็ได้โดยอ้างกฎหมาย ขณะที่การตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐก็อ่อนแอ เหมือนตรวจสอบไม่ได้ เราจึงเห็นภาครัฐสั่งปิดหรือล็อกดาวน์ธุรกิจ ให้ประชาชนอยู่บ้านห้ามเดินทางเพื่อหยุดการระบาด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือ ยอมอยู่บ้านเป็นเดือนๆ สถานการณ์การระบาดก็คลี่คลาย แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีอำนาจมากและถ้าใช้อำนาจอย่างถูกต้องมีเหตุผล และประชาชนให้ความร่วมมือ ปัญหาที่มีอยู่แม้จะเป็นวิกฤติก็สามารถแก้ไขได้ 

นี่คือข้อเท็จจริงสามเรื่องที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนจากวิกฤติโควิด ที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว บนฐานของเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุลและเปราะบาง ขณะที่ภาครัฐมีอำนาจมาก และสามารถใช้อำนาจที่มีแก้ไขปัญหาได้ ถ้าทำอย่างถูกต้องและประชาชนให้ความร่วมมือ

 คำถามที่ตามมาคือ เราจะฟื้นเศรษฐกิจอย่างไรบนความเปราะบางของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เศรษฐกิจมี ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิดจะเป็นแบบตัวอักษร K ที่คนกลุ่มน้อยที่อยู่ท่อนบนของตัว K จะได้ประโยชน์ และอาจมีการเติบโตของรายได้สูงกว่าระดับที่เคยมีก่อนโควิด ขณะที่คนส่วนใหญ่ ความไม่แน่นอนเรื่องรายได้ยังมีมากแม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว และมีความเป็นไปได้สูงที่ฐานะความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้อาจแย่ลงกว่าช่วงก่อนโควิด นี่คือโจทย์ 

เท่าที่มีการให้ความเห็นกัน ในการแก้ไขปัญหาหรือฟื้นเศรษฐกิจแบบตัว K ผู้ทำนโยบายจะต้องทำสามเรื่องให้เกิดขึ้น 

1. ต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงพอ คือ มากกว่าร้อยละ 4 ในกรณีของประเทศเรา เพื่อให้รายได้ที่เกิดขึ้นมีมากพอที่จะกระจายไปสู่คนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงคือทั้งส่วนบนและส่วนล่างของตัว K ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีรายได้จากภาษีพอที่จะชำระหนี้ เพราะระดับหนี้ภาครัฐได้เพิ่มสูงขึ้นมากจากการกู้ยืมเพื่อใช้กระตุ้นและเยียวยาเศรษฐกิจ

 2. เราต้องทำให้กระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจแตกต่างจากกระบวนการที่มีอยู่เดิม คือเป็นกระบวนการที่ให้ประโยชน์กับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง (Inclusive) เพื่อลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีและให้ความมั่นใจว่าทุกชีวิตจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจหลังโควิด

 3. จากที่ภาระหนี้ภาครัฐได้เพิ่มสูงขึ้นมาก รัฐควรถอนบทบาทนำในกระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะจะไม่มีทรัพยากรการเงินมาใช้จ่ายเหมือนแต่ก่อน ตรงข้าม บทบาทในการนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องมาจากภาคธุรกิจ ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เป็นบทบาทนำของภาคธุรกิจที่มาจากธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่

 นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ต้องมีทั้งสามข้อที่พูดถึงคงเกิดขึ้นยากภายใต้การนำของนักการเมืองนักธุรกิจและข้าราชการกลุ่มเดิม เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้เล่นที่ได้ประโยชน์จากสถานะและอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคงต้องการรักษาสถานะและอำนาจเหล่านี้ไว้มากกว่าที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการบรรจบกันหรือ convergence ของคนสี่กลุ่มที่เป็นความคิดใหม่เป็นพลังสังคมใหม่ที่ต้องการสร้างชาติ สร้างประเทศ ไม่ใช่เพื่อรักษาอำนาจปัจจุบัน

 คนสี่กลุ่มนี้เปรียบได้เหมือนแคว ปิง วัง ยม น่าน ที่บรรจบและรวมพลังกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะสร้างโอกาสให้คนทั้งประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กลุ่มแรกคือ “ปิง” หมายถึงประชาชนในวงกว้างที่ห่วงใยและผิดหวังกับสถานะและอำนาจปัจจุบัน และต้องการการเปลี่ยนแปลง

สอง “วัง” หมายถึงนักคิด เช่น นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์และผู้มีความรู้ ที่มองเห็นชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ปัญหาที่ประเทศมี และตอบคำถาม “What should we do” หรือเราควรทำอะไรได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

สาม “ยม” หมายถึงผู้ทำนโยบายที่พร้อมจะนำคำตอบที่ได้จากกลุ่มนักคิดไปขับเคลื่อน เพื่อสร้างชาติสร้างประเทศ เป็นได้ทั้งผู้ทำนโยบายรุ่นใหม่และรุ่นปัจจุบันที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ะ

สี่ “น่าน” หมายถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ประสบความสำเร็จ มีความห่วงใยและมองยาวถึงอนาคตของประเทศ ไม่ใช่มองแค่อนาคตของบริษัท พร้อมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบัน (Institutional change) ให้เกิดขึ้นทั้งในและนอกภาคธุรกิจไปพร้อมๆ กัน เพราะมองว่า ความสำเร็จของภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีนวัตกรรมและไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันในภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศเข้ามาสนับสนุน เช่น ระบบราชการ ระบบการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย

นี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจรูปตัว K เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ซึ่งไปไกลกว่าการรักษาอำนาจและการเลือกตั้งคราวหน้า.