เปลี่ยนแล้วให้ดีขึ้นจริง

เปลี่ยนแล้วให้ดีขึ้นจริง

อะไรก็ตามไม่ว่าดั่งเดิมจะดีเด่นแค่ไหน ถ้าไม่ปรับปรุงให้ดีขึ้นไปตามกาลเวลา อะไรที่ว่าดีนั้นอาจตกต่ำกลายเป็นอะไรที่ไม่มีใครบอกว่าดีอีกต่อไป

การปรับปรุงของดีให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นหนทางสู่ความเป็นเลิศ  ที่แทบทุกตำราว่าไว้ตรงกันว่าเป็นเลิศคือสามารถส่งมอบคุณค่าที่ดีกว่าเดิมได้เสมอ ซึ่งจะดีกว่าเดิมได้เสมอก็ต้องมีการปรับปรุงให้ทำงานเก่งขึ้นกว่าเดิม ปรับปรุงให้ทำได้ผลมากขึ้น ตรงใจผู้รับคุณค่านั้นมากขึ้น โลกนี้ไม่มีอะไรอยู่นิ่ง ๆเหมือนเดิม คนเปลี่ยนไปทุกวัน ใครที่คิดว่าหยุดการเปลี่ยนแปลงได้ คนนั้นคือคนนี้กำลังเป็นคนตกยุคที่ไม่ใช่แค่ทำให้ตนเองหมดค่าหมดราคา แต่ยังเป็นคนถ่วงความเจริญขององค์กรของตนอย่างร้ายกาจอีกด้วย

แต่ถ้าปรับปรุงก็ไปแบบตามมีตามเกิด เปลี่ยนแปลงแล้วอาจแย่ลงไปจากเดิม อยากจะเปลี่ยนให้ดีขึ้น ให้ลองใช้หลักการเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นที่มีอยู่หกประการ เริ่มต้นด้วยการเลือกประเด็นที่จะปรับเปลี่ยน ให้เลือกประเด็นที่เป็นปัญหาที่พบเห็นกันในวันนี้ อะไรที่เป็นปัญหากับคนที่ใช้บริการของเรา หรือเป็นปัญหากับคนใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ถามตนเองก่อนว่าปัญหาสำคัญของเราคืออะไร ทำไมเราจึงรู้ว่าเป็นปัญหา แต่อย่าปรับปรุงโดยยึดความต้องการของตัวเราเองเป็นสำคัญ อย่าถามว่าที่กำลังทำให้ลูกค้าอยู่ในวันนี้   ลูกค้าทำอะไรให้ฉันลำบากบ้าง แล้วเร่งรัดขจัดความลำบากนั้น จะได้ไม่ไปเลือกประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่ออกแรงทำไปแล้ว ลูกค้า หรือผู้รับคุณค่าที่เราส่งมอบกลับรู้สึกแย่ลง

หลักที่สองคือ ปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายมากขึ้น คนเรามีความหลากหลายมากขึ้นทุกวัน ความชอบแตกต่างกันมากขึ้นทั้ง ๆที่ดูเหมือนว่ามาจากกลุ่มเดียวกัน เดิมเคยทำแค่ค้นหาว่าทำอะไรแล้วคุณค่าดีขึ้น แต่วันนี้ให้ค้นเพิ่มเติมว่าทำอะไรแล้ว คุณค่าอะไรบ้างที่ดีขึ้นกับใคร ภายใต้บริบทใดบ้าง จำไว้เสมอว่าความเป็นเลิศคือดีกว่าเดิมสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่บางคน

หลักที่สามคือ มองให้เห็นระบบในเรื่องที่ต้องการปรับปรุง มองเห็นขั้นตอนการทำงานที่ใช้อยู่ในวันนี้ตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ จนกระทั่งถึงผลที่ได้จากกระบวนการนั้น ทบทวนดูว่ามีขั้นตอนอะไรบ้างที่กระทำอยู่ในวันนี้  แล้วทบทวนดูให้ลึกลงไปว่าแต่ละขั้นตอนนั้นทำได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ทำตรงกับสิ่งที่ควรจะทำหรือไม่ ทำวันนี้กับทำแบบเดียวกันในวันพรุ่งนี้ได้ผลเหมือนกันต่างกันอย่างไร หลักการนี้สำคัญมาก ๆสำหรับการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

จะทำตามขั้นตอนในหลักที่สามอย่างได้ผล ต้องปฏิบัติตามหลักการที่สี่ คือต้องวัดผลลัพธ์ ผลผลิตได้ วัดได้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ว่ากันไปตามความรู้สึกนึกคิด วัดได้เหมือนที่เราอ่านความเร็วของรถจากมาตรวัดความเร็ว ไม่ใช่ใช้ฟังเสียงลมแล้วบอกว่าขับรถเร็วแค่ไหน  ถามตนเองว่าถ้าเปลี่ยนขั้นตอนนี้แล้วส่งผลต่อการวัดผลลัพธ์ ผลผลิตอย่างไรบ้าง

หลักที่ห้าคือ ปรับปรุงโดยใช้วงจรคุณภาพ คือก่อนจะปรับปรุงอะไรก็วางแผนให้ชัดเจนก่อน วางแผนแล้วก็ลงมือทำตามแผนไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปรับปรุงแล้วก็วัดผลความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยปราศจากความลำเอียงเข้าข้างตนเอง  หากพบว่าที่ทำกับที่วางแผนเอาไว้ยังมีความแตกต่างอยู่ คือปรับปรุงได้ไม่ดีเท่าที่คาดเอาไว้ ก็เร่งหาหนทางในการลดความแตกต่างนั้นลง คือหาทางปรับเปลี่ยนวิธีทำให้ได้ผลมากขึ้น ซึ่งคงคุ้นเคยกันดีกว่าถ้าจะบอกว่าให้ปรับปรุงไปตามวงจร PDCA จะได้ไม่หลงทางไปทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำ

หลักที่หก คือปรับปรุงไปด้วยกันทุกหมู่ทุกเหล่า อย่าต่างคนต่างทำ อย่าทำการปรับปรุงโดยแยกเป็นไซโล ของใครของมัน เพราะจะทำให้กลายเป็นงานประหลาด มากกว่างานที่เป็นเลิศ  การงานทุกวันนี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันมากกว่าแต่ก่อนมาก ต่างคนต่างทำให้งานของตนเองดีขึ้นโดยไม่ต้องใส่ใจงานของคนอื่นไม่อาจกระทำได้แล้วในวันนี้ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจไว้เต็มไปหมด แล้วตั้งหน้าตั้งตาปรับปรุงงานของศูนย์เฉพาะกิจ โดยลืมไปว่ามีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวเนื่องด้วยอีกมากมาย เลยกลายเป็นคนประหลาดที่แขนยาว ขาสั้น เดินไปไหนไม่ได้ในทุกวันนี้ 

ปรับเปลี่ยนตามหลักการนำสู่ความเป็นเลิศ แต่ปรับเปลี่ยนตามใจชอบของใครบางคนอาจเป็นเละแทนที่จะเป็นเลิศ.