ทะยานอย่างมั่นใจ

ทะยานอย่างมั่นใจ

การขยับตัวของไทยถูกประเมินว่าช้ากว่าประเทศใหญ่ของโลก 1-2 ไตรมาส

ประเด็นสำคัญในการบริหารประเทศในทุกวันนี้ยังคงหนีเรื่องของโควิด-19 ไปไม่พ้น เพราะการควบคุมการระบาดเกี่ยวเนื่องกับภาวะเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออก ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกจึงเน้นการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชากรและหวังให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนปกติ

สำหรับบ้านเรา ตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะทำให้พอประเมินสถานการณ์ได้คือความคึกคักในงานคอมมาร์ต 2021 ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยเพิ่งได้รับวัคซีนล็อตแรกๆ มาประชาชนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง เพราะต้องจำกัดให้กับกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ก่อน แต่คนจำนวนมากก็ไม่หวั่น

ด้วยข้อบังคับจำนวนมากทั้งการรักษาระยะห่างและการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมงานทำให้เกิดคิวยาวเหยียดก่อนเข้างานจนช่วงบางช่วงผู้ชมงานอาจต้องรอคิวนานกว่า 40 นาทีแต่ก็ยังมีฝูงชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นความต้องการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยที่อัดอั้นมานานนับปี

ไม่ต่างอะไรกับหลายๆ ประเทศที่แม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ แต่ก็ไม่มีประชาชนในประเทศใดยินยอมให้มีการล็อคดาวน์หรือปิดเมืองเพื่อคุมการระบาดอีกแล้ว เพราะทุกคนต่างต้องการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแม้จะยังต้องป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดก็ตาม

โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยที่รัฐบาลมีงบประมาณในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นเงินชดเชย ประชากรในประเทศเหล่านั้น จึงมีความต้องการใช้เงินด้วยการกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมทั้งการไปช็อปปิ้งทานอาหารในภัตตาคาร ฯลฯ เพราะมั่นใจว่าทั้งวัคซีนและมาตรการต่าง ๆ ที่มีน่าจะปลอดภัยเพียงพอแล้ว

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นอะไรหลายๆ อย่าง เริ่มจากข้อแรกคือคนส่วนใหญ่รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของโควิด-19 ได้ดีแล้ว และด้วยหน้ากากอนามัยและการรักษาตัวเองอย่างเคร่งครัดก็น่าจะเพียงพอให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ระดับหนึ่ง

เพราะความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การจำกัดตัวเองอยู่ในบ้านนานเกินไปย่อมส่งผลลบทางจิตวิทยาอย่างแน่นอน เมื่อภาครัฐเริ่มมีมาตรการผ่อนปรน เราจึงเห็นภัตตาคารและร้านค้าต่างๆ เนืองแน่นไปด้วยผู้คน เช่นเดียวกับงานคอมมาร์ตที่เพิ่งจบไป

ข้อสองคือการวางกลยุทธ์ที่ดีอาจทำให้เศรษฐกิจทะยานกลับขึ้นไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังที่เราเห็นการพยากรณ์เศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศที่เชื่อว่าจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว V คือตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจดิ่งลงมาอย่างรวดเร็ว แต่ก็กลายเป็นบวกและปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างทันทีเพราะมีการจัดการทั้งอุปสงค์และอุปทานอย่างมีกลยุทธ์

ในสหรัฐก็มีการคาดการว่าดัชนีทางเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ไม่นับจีนที่นำไปก่อนแล้วเพราะขนาดเศรษฐกิจในประเทศใหญ่เพียงพอ จนไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ ในขณะที่บ้านเราดูจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

อย่าลืมว่าแต่ละเดือนที่ผ่านพ้นไปโดยไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจที่ดีมารองรับ นั่นหมายถึงเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่หายไปนับแสนล้านบาท พื้นฐานสำคัญอย่างเช่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยงและการส่งออกจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและส่งเสริมให้เกิดการเดินทางได้สะดวกขึ้นแต่ยังควบคุมการระบาดได้ดี เช่นวัคซีนพาสปอร์ต เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

การขยับตัวของไทยถูกประเมินว่าช้ากว่าประเทศใหญ่ของโลกประมาณ 1-2 ไตรมาส นั่นหมายความว่าเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่เริ่มฟื้นตัว อาจต้องใช้เวลาถึงครึ่งปี กว่าที่เราจะปรับตัวตามได้ทัน ความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้าในจุดนี้ อาจเป็นเงินมหาศาลที่อาจสูงถึงหลักล้านล้านบาทเลยทีเดียว

จริงอยู่ว่าประเทศเรามีข้อจำกัดจำนวนมากและไม่ได้มีเงินทุนมากมาย ที่จะจัดสรรเพื่อเตรียมวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว แต่การมีกลยุทธ์ที่ดีก็จะช่วยร่นระยะเวลาที่เรายังตามหลังประเทศชั้นนำให้สั้นลง และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

การรอวัคซีนจึงไม่ใช่ทางออกเดียว แต่จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจทะยานกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด เป็นสิ่งที่ผู้นำในทุกระดับต้องให้ความสำคัญและทุ่มเททรัพยากรเพื่อวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน