มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวSMEอย่างไร

มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวSMEอย่างไร

เงินทองมองต่างมุม : มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว SMEs อย่างไร

เป็นเวลาประมาณ 1 ปีแล้วนะครับ ที่ประเทศไทยมีมาตรการปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยอยู่ในระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และส่งผลต่อเนื่องทำให้ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ถึงแม้รัฐบาลได้มีการนำเสนอมาตรการเชิญชวนนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวระยะยาวให้เข้ามาพักผ่อนผ่านวีซ่าท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa) ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยสามารถควบคุมได้ดี แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพียง 5,700 คน ในขณะที่ เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านคน

การหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างหนักในเชิงรายได้ในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวลดลงเช่นกัน แม้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการพักชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่ต้องเผชิญผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยาวนานกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ และมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าก็ยังคงประสบกับปัญหาด้านการชำระหนี้เป็นจำนวนมาก

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารพาณิชย์ไทย ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านการชำระหนี้เพิ่มเติม จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านการให้สินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งมีกลไกให้ความช่วยเหลือที่สอดคล้องกัน โดยหลักการแล้ว มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจตีโอนทรัพย์สิน เพื่อแลกกับได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินทุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินตามมูลค่าสินทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ และภาครัฐมีการสนับสนุนให้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์

มาตรการนี้มีข้อกำหนดสำคัญคือ ธุรกิจจะมีสิทธิ์ในการซื้อหรือเช่าสินทรัพย์คืนได้ภายใน 3-5 ปี จึงส่งผลช่วยทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีโอกาสดำเนินกิจการได้อีกในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่เข้าร่วมโครงการ ธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์และรับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง เพื่อประกอบกิจการและสนับสนุนการจ้างงานให้ยังคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อรอให้การฟื้นตัวของสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมาเติบโตได้ดีดังเช่นในอดีต

ในอีกทางหนึ่ง มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ก็ให้ประโยชน์ต่อธุรกิจที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ แต่สนใจที่จะขายสินทรัพย์ออกสู่ตลาด เนื่องจาก มาตรการนี้เป็นการแปลงสินทรัพย์จากภาคธุรกิจมาเป็นสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้อุปทานของสินทรัพย์ในตลาดมีปริมาณที่ลดลงกว่าที่ควรจะเป็น เกิดผลต่อเนื่องทำให้ราคาสินทรัพย์ ไม่ถูกผลกระทบจากการกดราคา อันเป็นผลมาจากการเทขายสินทรัพย์ (Fire Sale) อย่างที่เกิดขึ้นในอดีตช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ช่วยให้ผู้ขายสินทรัพย์สามารถขายสินทรัพย์ออกมาได้ในราคาที่เหมาะสม

ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เนื่องจากเมื่อพิจารณาข้อมูลคุณภาพสินเชื่อธุรกิจในปี 2563 พบว่า มูลค่าสินเชื่อที่สินเชื่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Stage 2) ของธุรกิจโรงแรม มีมูลค่ารวม 54,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 14.5% เมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจโรงแรมทั้งหมดมูลค่ากว่า 4.21 แสนล้านบาท (ณ สิ้นปี 2563) และมีสินเชื่อด้อยคุณภาพที่กลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไปแล้วอีก 22,000 ล้านบาท คิดเป็น 4.5% ของสินเชื่อทั้งหมด

ที่สำคัญคือ ปัจจุบันลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาในการชำระหนี้ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม คือลูกหนี้ธุรกิจ SMEs โดยยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในธุรกิจโรงแรม SMEs ที่มีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% ของสินเชื่อ NPL ในธุรกิจโรงแรมทั้งหมด ในขณะที่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสาคัญ (Stage 2) ของธุรกิจโรงแรม SMEs มีมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท ก็สัดส่วนสูงคิดเป็น 89% ของสินเชื่อ Stage 2 ในธุรกิจโรงแรมทั้งหมดเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า มาตรการพักทรัพย์พักหนี้เป็นมาตรการที่ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจ SMEs โดยตรง

เมื่อพิจารณางบช่วยเหลือมูลค่า 1 แสนล้านบาท ถือว่ามาตรการนี้มีความพร้อมในการช่วยเหลือ ไม่เพียงแค่กลุ่มธุรกิจโรงแรม แต่สามารถช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจอื่นที่มีสินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน หอพัก โรงละคร ห้างสรรพสินค้า หรือ โรงงานต่าง ๆ ได้เช่นกัน ประเด็นสำคัญที่ควรติดตามกันต่อไปหลังจากนี้ คือ กฎเกณฑ์เงื่อนไขการตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ และข้อตกลงระหว่างลูกหนี้-เจ้าหนี้ จะมีรูปแบบเป็นอย่างไร ซึ่งความชัดเจนของเงื่อนไขภายใต้มาตรฐานเดียวกันในทุก ๆ ธนาคารพาณิชย์ จะช่วยสนับสนุนให้ลูกหนี้ธุรกิจเกิดความเชื่อมั่นในการเข้าร่วมโครงการ และทำให้โครงการประสบความสำเร็จต่อไปได้หรือไม่ต้องคอยติดตามกันต่อไปครับ