คำถามที่ต้องตอบ

คำถามที่ต้องตอบ

ในทางปฏิบัตินั้น  การที่เราจะทำงานโดยตระหนักถึง “บทบาทหน้าที่ของตัวเอง” อยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ

เพราะส่วนใหญ่เรามักจะทำงานแบบไม่ตรงกับตำแหน่งงานและไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ คืออาจทำงานแบบก้าวก่ายกันหรือทับซ้อนกัน  ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เรามักจะทำงานและแสดงบทบาทหน้าที่เป็นตำแหน่งของคนอื่นทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เช่น ผู้จัดการทำหน้าที่เป็นหัวหน้างาน  พนักงานทำหน้าที่เป็นหัวหน้างาน  ผู้จัดการฝ่ายขายทำหน้าที่เป็นพนักงานขายหน้าร้าน  เลขาทำตัวเป็นนาย เป็นต้น

การทำงานโดยไม่ตรงกับบทบาทหน้าที่และตำแหน่งงานของตนเอง  ได้สร้าง “ปัญหามากมายในองค์กร ทั้งที่เห็นได้ชัด และแฝงเร้นเห็นไม่ชัด

แทบทุกวัน  เรามักจะได้ยินเพื่อนร่วมงานแอบนินทาผู้บริหารระดับสูงหลายๆ คนในองค์กรว่า เป็นผู้จัดการแต่สันดานเสมียน คือ เป็นถึงระดับผู้บริหารแล้ว แต่กลับลงมาทำงาน (ในรายละเอียด) เหมือนกับพนักงานธรรมดาๆ ในขณะที่เพื่อนร่วมงาน (บางคน) ที่ได้เลื่อนตำแหน่งจากพนักงานธรรมดาขึ้นไปเป็นระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร  กลับวางกล้ามใหญ่โตและอวดเบ่งราวกับได้เลื่อนขั้นเป็นผู้บริหาร

ทุกวันนี้  เราจึงเห็นผู้คนส่วนใหญ่ในองค์กรมักจะทำงานกันแบบไม่ตรงกับบทบาทหน้าที่หรือตำแหน่งของตนเองในลักษณะที่ไม่รู้ตัว แต่คิดว่าทำถูกต้องแล้ว

ยิ่ง คณะกรรมการบริษัทหรือ “Board” ต่างๆ ด้วยแล้ว ทั้งๆ ที่ควรจะทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้ CEO นำไปปฏิบัติ  แต่กลับลงไปทำในรายละเอียดเอง และให้ CEO เป็นผู้เสนอยุทธศาสตร์ขึ้นมาให้คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบ

ว่าไปแล้ว “หน้าที่และ วิธีปฏิบัติงานที่แตกต่างกันของแต่ละตำแหน่งงานทำให้ หน้างาน(พื้นที่หรือสถานที่ในการปฏิบัติงาน) ตามที่ได้รับมอบหมายแตกต่างกันด้วย (ทั้งทางกายภาพและขนาดกว้างใหญ่ของพื้นที่ทำงาน)

ด้วยเหตุนี้  “หน้างานของแต่ละคนแต่ละตำแหน่ง  จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานอย่างเดียวกันได้ ซึ่ง ผู้นำหรือ ผู้บริหารจะต้องสามารถจัดระเบียบของแต่ละคน และกำกับหรือควบคุมดูแลได้อย่างเหมาะสมว่า ใครต้องทำอะไร อย่างไรและที่ไหนบ้าง  เพื่อจะทำให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดสู่เป้าหมายขององค์กร

หน้างาน หรือ ที่ทำงาน จึงเป็นสถานที่ผู้นำและผู้ปฏิบัติงานสร้าง คุณค่า (เพิ่มมูลค่า) ให้กับองค์กร   “ผู้นำจึงต้องกระตุ้นให้พนักงานทุกคนทำตามตำแหน่งงานที่ได้รับมอบหมาย  โดยแสดงบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถให้สมกับ คุณค่าของตนเองและ ค่าตอบแทนที่ได้รับ

ผู้นำจึงต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเองในองค์กรอย่างชัดเจน  และสามารถกำกับ ควบคุม  ดูแลให้บุคลากรทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยการบูรณาการทุกหมู่เหล่าร่วมด้วยช่วยกันสู่เป้าหมายขององค์กร

ลองคิดดูซิว่า  ถ้าผู้บริหารลงไปปฏิบัติงานเอง อะไรจะเกิดขึ้น แล้วใครจะบริหารจัดการให้การปฏิบัติงานของทุกคนในองค์กรเป็นไปตามตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของตนเองสู่เป้าหมายร่วมกัน

ทุกคนในองค์กรจึงต้องหมั่นถามตนเองอยู่เสมอว่า  “เรากำลังปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ และ เรากำลังทำงานเต็มศักยภาพและสมกับคุณค่าของตัวเองหรือไม่ การตอบคำถามนี้ยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบยืนยันจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานด้วย คำถามข้างต้นนั้น ผู้นำทุกท่านก็ต้องตอบด้วย  ครับผม!