2028 : จีนVs.สหรัฐ ใครจะครองโลก

2028 : จีนVs.สหรัฐ ใครจะครองโลก

 คำว่า 'เรากำลังอยู่ในประวัติศาสตร์' เป็นความจริงแท้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากภาพเศรษฐกิจ สังคม ภูมิประชากร สิ่งแวดล้อม การเมือง และเทคโนโลยี

ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่น่าสนใจ และเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านทั้งสิ้น แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ ในอีก 1-2 ทศวรรษนี้ กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของมหาอำนาจโลกระหว่างสหรัฐและจีนในปัจจุบัน

แม้ว่านักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ภายในปี 2028 เศรษฐกิจจีนจะขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับหนึ่งแทนที่สหรัฐ พร้อม ๆ กับความแข็งแกร่งทางกำลังทหาร และทำให้โลกต้องเปลี่ยนขั้วอำนาจ แต่ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกหลังจากที่รับตำแหน่ง ไบเดนประกาศชัดเจนว่าเขาจะไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งแทนที่สหรัฐได้ และจะมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ (New paradigm) ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สหรัฐยังครองความเป็นหนึ่งได้ตลอดช่วงที่เขายังอยู่ในอำนาจ (โดยประกาศว่าพร้อมจะอยู่ถึง 2 สมัย)

 ในส่วนของผู้เขียน มองว่าการที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนที่สหรัฐในปี 2028 ได้หรือไม่นั้น มี 5 ปัจจัยที่ต้องจับตา ดังนี้ 

  1. ปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจจีนจะยังแซงสหรัฐในปี 2028 ได้หรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับ 2 เงื่อนไขสำคัญ 

เงื่อนไขแรก อเมริกาต้องทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจ (ที่รวมเงินเฟ้อหรือ Nominal GDP) เกิน 4% ต่อปีต่อเนื่องในทศวรรษนี้ (คือกลับไปทศวรรษ 2000-2010 ที่ขยายตัวประมาณ 3.9% ขณะที่ทศวรรษล่าสุดอยู่ที่ 3.4%) จากการสร้างสาธารณูปโภคขนานใหญ่ที่นำไปสู่การขยายตัวของผลิตภาพ (Productivity) โดยรวม ซึ่งไม่ง่าย และต้องพิจารณาจากมาตรการโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านดอลลาร์ของไบเดนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะต้องเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิต เช่น โครงสร้างด้านโทรคมนาคม สร้าง 5G infrastructure เป็นหลัก

 เงื่อนไขที่สอง คือ เศรษฐกิจจีนต้องเติบโตต่ำกว่าปีละประมาณ 7% ต่อเนื่องเป็น 1 ทศวรรษ ซึ่งไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แม้ว่าในทศวรรษล่าสุด เศรษฐกิจจีน (รวมเงินเฟ้อ) จะขยายตัวเฉลี่ย 9.4% ก็ตาม (ลดลงจาก 17.7% ในทศวรรษก่อน) สาเหตุที่จีนอาจโตต่ำกว่า 7% ในระยะถัดไปได้ เป็นเพราะประชากรจีนเริ่มสูงวัย ทำให้กำลังแรงงานในระยะต่อไปลดลง ขณะที่เทคโนโลยีของจีน กำลังอยู่ในระยะกลาง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็น Mass production 

ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว แม้เทคโนโลยีในจีนจะพัฒนาได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว แต่เทคโนโลยีขั้นสุดยอด (Cutting edge) ยังอยู่กับสหรัฐ ดังนั้น การที่จีนจะชนะสหรัฐได้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ให้รุดหน้าเกินสหรัฐให้ได้ รวมถึงลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากทั่วโลก โดยเฉพาะในประเด็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานสะอาด (Clean energy) ซึ่งคืออนาคต

2.ปัจจัยด้านความมั่นคง โดยประเด็นสำคัญคือ จะเกิดสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐ ในดินแดนไต้หวันในปี 2027 ตามที่พลเรือเอก ฟิลิป เดวิดสัน ผู้บังคับการกองเรือรบในลุ่มน้ำ อินโด-แปซิฟิก ทำนายหรือไม่ และหากเกิดขึ้น ใครจะชนะสงครามนั้น 

จะเห็นว่าพัฒนาการด้านความมั่นคงทั้งหลายของจีนในช่วงระยะหลัง ทั้งในฮ่องกง อินเดีย และในธิเบต เป็นการรวบอำนาจและทดลองถึงแสนยานุภาพทางการทหารและความมั่นคงของตนเองทั้งสิ้น ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนแล้ว ทั้งหมดนี้คือการกรุยทางสู่การเข้ายึดไต้หวัน อันเป็นหลักการจีนเดียว (One China) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งเดียวในใจผู้นำจีนทุกยุคโดยเฉพาะสีจิ้นผิง 

ณ ปัจจุบัน แสนยานุภาพทางการทหารของจีนรุกหน้ามาก มีขีปนาวุธตงเฟิง 21D (DF-21D) หรือที่มีชื่อว่า เพชฌฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งเป็นขีปนาวุธวิสัยกลาง สามารถทำลายล้างเรือบรรทุกเครื่องบิน จนถึงเรือดำน้ำสหรัฐได้ รวมถึงมีเครื่องบินรบ และเรือรบมากกว่าสหรัฐที่ประจำการในน่านน้ำนี้ถึงกว่า 5 เท่าและ 9 เท่าตามลำดับ และแม้แต่ทรัมพ์ก็เคยมองว่า หากเกิดสงครามไต้หวันระหว่างจีนและสหรัฐแล้ว เป็นไปได้สูงที่จีนจะชนะสงคราม ดังนั้น คำถามสำคัญคือ หากจีนบุกยึดไต้หวัน สหรัฐพร้อมรบเพื่อปกป้องไต้หวันหรือไม่ แล้วถ้ารบ จะชนะหรือไม่

3. ปัจจัยด้านพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหากความรุนแรงทางการทหารระหว่างจีนและสหรัฐจะเกิดขึ้นแล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะเป็นสมรภูมิ ดังนั้น การที่สหรัฐจะยังคงเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ จะต้องมีพันธมิตรด้านความมั่นคงสำคัญ ซึ่งเป็นที่มาของ Quad หรือภาคี 4 ฝ่ายต้านจีน อันได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ที่จะเป็นการกรุยทางสู่การสร้าง NATO ในเอเชีย ขณะที่ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สหรัฐก็สร้างผ่าน Blue Dot Network อันเป็นความร่วมมือด้านการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

 ทั้งสองความร่วมมือถูกสร้างมาเพื่อต่อกรกับกลยุทธของจีน ที่สร้างผ่านโครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) ซึ่งผู้เขียนมองว่า การที่สหรัฐจะผลักดันให้ Quad เติบโตและต่อกรกับ BRI ได้ จะต้องดึงอาเซียนเป็นส่วนร่วม ซึ่งไม่ง่ายเนื่องจากอาเซียนต้องสร้างสมดุลระหว่าง 2 มหาอำนาจ

4.ประเด็นเรื่องการผลักดันเขตการค้าเสรี โดยหากสหรัฐจะกลับเข้ามามีอิทธิพลในด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเอเชียได้นั้น สหรัฐจะต้องกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ TPP และดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมได้มากขึ้น ทดแทนจีนที่เข้ามามีอิทธิพลด้านการค้าในอาเซียนผ่าน เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China FTA: ACFTA) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ RCEP ในส่วนของจีน

5.ประเด็นการบริหารจัดการฟองสบู่เศรษฐกิจทั้งในจีนและสหรัฐ โดยในปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนเผชิญกับปัญหาฟองสบู่จากภาคอสังหาริมทรัพย์ จากบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น และจากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่ ซึ่งกำลังมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ หลังจากที่ทางการเริ่มเข้ามาคุมการปล่อยสินเชื่อที่ทำให้หนี้ประชาชาติทั้งประเทศสูงกว่า 285% ของ GDP

 ในขณะเดียวกัน สหรัฐก็กำลังจะเผชิญกับปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงถัดไป หลังจากที่ธนาคารกลาง (Fed) กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลผ่านการลดดอกเบี้ยเหลือ 0-0.25% และทำ QE ถึงกว่าเดือนละ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้เงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง และทำให้หลายฝ่ายมองว่ากำลังจะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ขนาดใหญ่และอาจแตกได้ในระยะต่อไป

 ประเด็นสำคัญคือ ทางการของทั้งสองประเทศจะบริหารจัดการเศรษฐกิจตัวเองในยุคหลัง COVID อย่างไร ไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่แตกจนนำไปสู่วิกฤติ 

ภาพทั้งหมดบ่งชี้ว่า ในระยะต่อไป ระหว่างการแข่งขันของ 2 มหาอำนาจจะมีสูงมากจนทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และความมั่นคง 

สองช้างสารจะรบกันในช่วง 8 ปีต่อจากนี้ หญ้าแพรกทั้งหลาย โปรดพึงระวัง.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่