สกัดจุดอ่อนอีอีซี รู้เร็วแก้ไขเร็ว

สกัดจุดอ่อนอีอีซี   รู้เร็วแก้ไขเร็ว

จากการติดตามความคืบหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน

จากการติดตามความคืบหน้าของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน อีอีซี ยังขาดประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งแม้ว่ากฎหมายที่ทำให้ สกพอ. มีอำนาจต็มที่ในการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ แต่ปรากฏว่าแผนการทำงานต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัด อีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ยังคืบหน้าช้ามาก โดยเฉพาะการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล

ทั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมากเกิดความสับสนในมาตรการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ สกพอ. และบีโอไอ ไปในคนละทิศละทาง มีนโยบายที่ทับซ้อนจนมึนงง และขาดการบูรณการการทำงาน และการประสานงาน จนทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ

นอกจากนี้ องค์กร สกพอ. ก็เป็นเหมือนมีแต่หัว แต่ปราศจากแขนขาในการทำงาน ในโครงสร้างของ สกพอ. มีเพียงเลขาธิการ ที่แบ่งงานฝ่ายต่าง ๆ ไปให้รองเลขาธิการด้านต่าง ๆ ดำเนินงาน แต่ขาดหน่วยงานภายใต้ในการเข้าไปผลักดันแผนการต่าง ๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม เพราะ สกพอ. เป็นเพียงหน่วยงานนโยบายที่วางแผน และส่งต่องานไปให้หน่วยราชการอื่น ๆ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหน่วยราชการอื่น ๆ ก็มีงานประจำที่ต้องเร่งผลักดันอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะให้ความสำคัญกับงานฝากของหน่วยงานอื่นน้อยกว่า จึงทำให้แผนงานต่างๆ เดินหน้าไปได้ช้า

ต่างจาก บีโอไอ ที่นโยบายจากเลขาธิการจะส่งตรงไปยังกองต่าง ๆ ที่ดูแลรายอุตสาหกรรม ไปดำเนินงาน และยังมีกองติดตามและประเมินผลรายอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบความคืบหน้าของการทำงาน รวมทั้งยังมีศูนย์ภาคเข้าไปอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในพื้นทื่ และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศถึง 16 ศูนย์ในเมืองสำคัญของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และศูนย์บริการการลงทุนที่เป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ และออกใบอนุญาต ตลอดจนกองความร่วมมือกับต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า สกพอ. จะต้องมีเจ้าหน้าที่และงบประมาณจำนวนมากในการทำงาน แต่ควรจะมีหน่วยงานภาคใต้ในการเข้าไปผลักดันในเรื่องต่าง ๆอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นผู้นำนโยบายไปแปลงเป็นแผนงานภาคปฏิบัติ ประสานงานกับหน่วยราชการอื่น และเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างรวดเร็ว และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด

และที่สำคัญ สกพอ. ไม่ได้เพียงแต่มีหน้าที่ดึงดูดการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำหน้าที่ในการยกระดับทุกภาคส่วนใน อีอีซี ให้มีการทำงานที่สอดคล้องกันในทุกด้าน ตั้งแต่การจัดหาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า ให้เพียงพอในระยะยาว ซึ่งก็ยังมีแผนที่ไม่ชัดเจน การยกระดับการศึกษาให้มีแรงงานที่มีทักษะสูงเข้ามารองรับอุตสาหกรรมและบริการชั้นสูง การกระจายผลประโยชน์จากการลงทุนลงไปสู่ประชาชน และธุรกิจในพื้นที่ การป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและอาชญากรรมจากความหนาแน่นของเมือง และเรื่องอื่น ๆ อีกมาก

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำงานโดยองค์กรที่มีหัวเพียงอย่างเดียวได้ จะต้องมีแขนขาในการทำงาน และที่สำคัญ อีอีซี เป็นเหมือน Sandbox ในการทดสอบมาตรการใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ หากอีอีซีล้มเหลว ก็จะสร้างความล้มเหลวให้กับประเทศ ดังนั้นจึงควรเร่งปรับปรุงเพื่อผลักดันนโยบาย อีอีซี ให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป