อัตลักษณ์แห่งชนชั้นของสตรี: คุณค่าทางการเมืองที่ถูกมองข้าม

อัตลักษณ์แห่งชนชั้นของสตรี: คุณค่าทางการเมืองที่ถูกมองข้าม

เคยตั้งข้อคำถามกันไหมว่า ในวันหนึ่งตัวเรามีบทบาทเป็นอะไรบ้าง ใหนึ่งวันเราเป็นพนักงานออฟฟิศ ตอนกลางวันก็เป็นลูกค้า ตกเย็นก็กลับไปทำงานบ้าน

ตกเย็นก็กลับไปทำงานบ้าน ทำความสะอาด ล้างจาน เอาผ้าเข้าตู้ แถมเป็นคนให้อาหารแมวสองตัวในเวลาเดียวกัน และเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็อาจมีบทบาทอะไรใหม่ๆอีกก็ได้ แล้วถ้าไม่ใช่งานในออฟฟิศที่ได้รับเงินเดือน งานอื่นๆเช่น ทำความสะอาดบ้าน ส่งเงินกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้มันมีมูลค่าหรือไม่....

คำถามข้างต้นเกี่ยวพันกับเศรษฐศาสตร์อย่างสำคัญ (แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับไม่ค่อยถามถึงซักเท่าใดนัก) ในหนังสือ A Postcapitalist Politics (2009) โดยนักภูมิเศรษฐศาสตร์สายสตรีนิยม Julie Gibson และ Katherine Graham ได้ช่วยเราตอบคำถามนี้ด้วยการนิยามวิสัยทัศน์การเมืองที่ตรงข้ามทุนนิยม (anti-capitalism) สองคนนี้เสนอว่า เราถูกครอบงำด้วยภาษาทางเศรษฐศาตร์กระแสหลัก ทำให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในปริมณฑลที่เกี่ยวข้องกับตลาดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเรามองไปที่ “อัตลักษณ์แห่งชนชั้น” (class identities) จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซ้อนทับกันระหว่างกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ในแง่นี้คือการสร้างมูลค่าส่วนเกิน (surplus) ด้วยแรงงาน) ที่ไม่ได้อยู่บนความสัมพันธ์ทุนนิยม  

อัตลักษณ์แห่งชนชั้นที่หลากหลายไม่ได้จำกัดเฉพาะในเมืองดังที่เกริ่นในย่อหน้าแรกเท่านั้น ผู้หญิงในพื้นที่เขตชนบทจำนวนมากก็มีหลายบทบาท หลายหน้าที่ในแต่ละวัน ซ้ำยังเป็นผู้หล่อเลี้ยง ฟูกฟัก เป็นผู้ผลิตคน ผู้ผลิตซ้ำทางเศรษฐกิจ และเป็นผู้ดำรงสืบทอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ กล่าวได้ว่าการผลิตมูลค่าส่วนเกินเพื่อสมาชิกอื่นในชุมชนถือเป็นกลไกในการสร้างความหมายทางสังคมและรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะขึ้นมา

ดังเช่นประเพณีของชาวอีสานที่ผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในครอบครัวและในชุมชนซึ่งแสดงออกผ่านการจัดที่อยู่อาศัยแบบ มาตุพงศ์ (matilocality) กล่าวคือ ผู้ชายหรือลูกเขยจะต้องย้ายออกจากบ้านของตนไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิง หรือในอดีตผู้ชายผู้ที่แต่งเข้าบ้านถือเป็นแรงงานให้กับบ้านของพ่อตา ช่วยทำนา ทำไร่ มีกำลังแรงงานเพิ่มมาอีกหนึ่ง ในวัฒนธรรมของอีสานผู้หญิงถูกให้สำคัญในการดูแลคนแก่ เด็ก และสมควรให้เรื่องของภายในบ้านเรียบร้อย

อนึ่งยังมีธรรมเนียมปฏิบัติโดยเฉพาะลูกสาวคนเล็กหรือที่เรียกว่าลูกสาวหล่าจะมีธรรมเนียมถือปฏิบัตินานมาโดยเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพ่อแม่เมื่อแก่ตัวลง คอยหุงหาอาหาร จัดความเป็นอยู่ในบ้านให้เรียบร้อยเรียกว่าบ้านไหนมีลูกสาวอาจถือเป็นหลักประกันในการดูแลเมื่อตนยามเฒ่าชรา เป็นความมั่นคงของพ่อแม่อาจต่อยอดไปถึงขั้นความเป็นปึกแผ่นของญาติพี่น้องที่ไม่ใช้เฉพาะตัวของคน แต่เป็นกลุ่มก้อนเป็นชุมชน

การทำงานของหญิงชนบทไม่จำกัดแต่ในบ้านและการเกษตร หลายคนทำอาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็นการมีกลุ่มแม่บ้านเย็บผ้า หรือกลุ่มเย็บตุ๊กตา หรือปลูกเพาะเห็ด ฯลฯ ไปพร้อมๆกับเลี้ยงลูกหรือหลาน เช่นเดียวกันลูกสาวหล่า (ลูกสาวคนเล็ก) หลายบ้านก็เป็นแรงงานในเมืองใหญ่ยามหมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าว และส่งเงินให้ทางบ้านเพื่อทำหน้าที่เป็นลูกสาวที่ดีต่อไป ในขณะเดียวกันหลายบ้านขาดรุ่นอายุตรงกลาง มีเพียงยายตากับหลานในหมู่บ้านกลายเป็นบทบาทของแม่และยายในเวลาเดียวกัน

ในโอกาสที่เป็นเดือนแห่งสตรีนี้ การเขียนเช่นนี้อาจเสี่ยงต่อการถูกตัดสินว่ามองข้ามความเท่าเทียมทางเพศ (ระหว่างหญิงชายและระหว่างเพศอื่น) เพราะดูเหมือนจะเห็นงามกับบทบาทที่หนักอึ้งของผู้หญิงเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศเท่าที่สัมผัสตามโซเชียลมีเดียมักมุ่งเป้าไปที่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเฉพาะหน้า ทั้งการ harassment ทางวาจาและการกระทำต่อผู้หญิง แต่ไม่ค่อยพูดถึงมูลค่าส่วนเกินนัก

ดังนั้น เจตนาของการเขียนนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงกิจกรรมที่สร้างมูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (ทั้งทางตรงและอ้อม) และการสร้างมูลค่าส่วนเกินที่นับเป็นเงินไม่ได้ ทั้งบทบาทสนับสนุนแรงงานย้ายถิ่นที่มีลูก การส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เริ่มแก่เฒ่า การดูแลลูกและหลานของผู้สูงอายุ รวมถึงความรักและประเพณีที่สืบทอด

ทั้งหมดนี้ถูกยึดโยงระหว่างกันด้วยเครือข่ายแห่งมูลค่าส่วนเกินที่สตรีเหล่านั้นสร้างขึ้นมา ส่วนเกินนี้มีมูลค่าอันมหาศาลที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถตีมูลค่าได้ และเป็นคุณค่าแห่งความเข้าใจที่จะนำเราไปสู่โครงการทางการเมืองที่ช่วยสร้างการระลึกถึงความสำคัญของบทบาทสตรีในฐานะผู้ค้ำจุนเศรษฐกิจให้แก่ภาคส่วนอื่นๆ เพื่อค้นหารูปแบบทางสังคมที่ปลดปล่อยภาระอันหนักอึ้งนี้ไปจากพวกเขาได้.

*บทความโดย

ภัสริน รามวงศ์ มหาบัณฑิต มานุษยวิทยาประยุกต์ Oregon State University

นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น