7 ประเภทของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในบริบทปัจจุบัน

7 ประเภทของการสร้างสรรค์นวัตกรรมในบริบทปัจจุบัน

แม้ว่าคำว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation” ได้มีการนำมาใช้ในโลกในเวลาที่ยังไม่ถึง 100 ปีดีนัก

แต่ผลกระทบของ นวัตกรรม และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ก็ได้สร้างคุณค่าเพิ่มต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้อย่างมหาศาล

ในยุคแรกๆ นวัตกรรม มักจะนำมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในรูปของการสร้างสรรค์สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคและตลาดทั่วไป ยังไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เจ้าของสินค้านวัตกรรมสามารถสร้างยอดขายและมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้เหนือคู่แข่งอย่างโดดเด่น ต่อมา นวัตกรรมถูกนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของธุรกิจบริการ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการส่งมอบสินค้าที่จับต้องไม่ได้ให้กับผู้รับบริการ ทำให้บริการที่มีนวัตกรรม สามารถตอบสนองความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการได้เหนือผู้ให้บริการที่นำเสนอวิธีบริการแบบเดิมๆ ไม่มีการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แปลกใหม่และตรงใจผู้รับบริการได้เพิ่มขึ้น

การนำแนวคิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในรูปของการพัฒนาธุรกิจได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจอย่างหลากหลาย รวมถึงนวัตกรรมของรูปแบบของการทำธุรกิจ นวัตกรรมการตลาด และนวัตกรรมในการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น

จากความสำเร็จของการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงธุรกิจ ก็มีการนำกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในเชิงสังคมมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่นอกเหนือจากมูลค่าที่เป็นตัวเงิน ให้กับสังคมในการดำรงชีวิตของมนุษย์และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาของ นวัตกรรมสังคม นวัตกรรมสีเขียว ฯลฯ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ในปัจจุบัน คำว่า นวัตกรรม” จึงต้องนำมาใช้ในความหมายเชิงลึก เพื่อชี้ให้ทราบว่า ผลลัพธ์จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น จะให้ประโยชน์หรือสร้างคุณค่าประการใดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มใด

การใช้คำว่า นวัตกรรม แบบลอยๆ จึงอาจสร้างความไม่เข้าใจหรือความเข้าใจผิดให้กับบุคคลอื่นได้โดยไม่ตั้งใจ

ภายใต้บริบทของความเจริญก้าวหน้าของโลกที่พลิกผันได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำ ความเหลื่อมล้ำของสังคม และภัยจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของโลก มีนวัตกรรมอย่างน้อย 7 ประเภทที่ถือได้ว่าจะสามารถทำให้เกิดคุณค่าให้กับโลกได้ในปัจจุบันและอนาคตต่อไป ซึ่งได้แก่

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ สร้างสรรค์รูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีเชิงลึกมาใช้ในธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ เช่น การท่องเที่ยวแบบไฮเทค โมเดลธุรกิจแบบ BCG ที่อิงพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันได้แก่ ธุรกิจชีวภาพ (Bio) ธุรกิจหมุนเวียน (Circular) และธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green) บริการทางการเงินเพื่อโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงการพัฒนาองค์กรธุรกิจของตนเองสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม เป็นต้น

นวัตกรรมเชิงพื้นที่ นำแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมมาต่อยอดให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่หรือภูมิภาค การพัฒนาย่านนวัตกรรมหรือพื้นที่ที่สามารถเป็นศูนย์รวมของนวัตกรประจำพื้นที่ที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ซึ่งกันและกันได้

นวัตกรรมสังคม สร้างสรรค์แนวคิดใหม่เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การลดมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

นวัตกรรมภาครัฐ เช่น การนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการให้บริการประชาชน นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและสุขลักษณะของประชากรและชุมชน การพัฒนานโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศ ฯลฯ เป็นต้น

นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ข้อมูล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระบบเครือข่ายข้อมูลปริมาณมากมหาศาล การทำพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์อัจฉริยะ

นวัตกรรมเชิงมโนทัศน์ การสร้างสรรค์มโนทัศน์หรือการก้าวออกจากกรอบความคิดเดิมๆ เช่น การใช้กระบวนการสร้างภาพอนาคตที่พึงประสงค์เพื่อการกำหนดนโยบายองค์กร รวมถึงการค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างเยาวชนที่พร้อมที่จะเป็นพลเมืองของโลกในอนาคต

นวัตกรรมเพื่อสุนทรียภาพ นวัตกรรมเพื่อการบันเทิงและนันทนาการ เทคโนโลยีด้านดนตรีและเสียงเพลง นวัตกรรมเพื่อดำรงและศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม หลักการพื้นฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งได้แก่การมีการใช้องค์ความรู้หรือศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่มาประยุกต์ต่อยอด เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน สามารถเพิ่มคุณค่า และสามารถแพร่กระจายจนเป็นที่ยอมรับของผู้คนในวงกว้างได้อย่างประสบความสำเร็จ

(แหล่งข้อมูล: https://1th.me/eSl3R)

กรุงเทพธุรกิจ