ความเฉลียวฉลาดทางสังคม (2)

ความเฉลียวฉลาดทางสังคม (2)

ความสำเร็จขององค์กรต้องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแบบไร้รอยต่อ

ความเฉลียวฉลาดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ด้านสติปัญญาหรือ IQ ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันมานับร้อยปี เพราะเมื่อโลกมีพลวัตรด้านการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นก็ย่อมมีปัจจัยต่างๆ ซับซ้อนมากขึ้นทำให้เราต้องรู้จักความฉลาดในมิติต่างๆ มากขึ้น เช่นความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ (Emotional Quotient) และด้านสังคม SQ (Social Quotient) ที่เกริ่นไว้ไน “Think out of The Box” ฉบับที่แล้ว

ปัจจัยสำคัญที่เสริมสร้างความเฉลียวฉลาดทางสังคมได้ประการแรกคือการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะเป็นทักษะสำคัญที่โลกธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกวันนี้ต้องการสูงสุด รวมถึงการบริหารในทุกระดับตั้งแต่หมู่บ้านไปจนถึงบริหารประเทศก็ล้วนต้องการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อใช้พลังจากทุกคนในสังคม

องค์กรที่มีแต่คนขยันแต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ก็ไม่ต่างอะไรกับหาดทรายที่มีเม็ดทราย นับล้านเม็ดที่ไม่อาจรวมตัวเป็นปึกแผ่นที่ใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ การทำงานเป็นทีมจึงเหมือนการใช้ซีเมนต์ยึดทรายเหล่านั้นเข้าด้วยกันจนก่อสร้างเป็นตึกเป็นอาคารได้ตามต้องการ

ความสำเร็จขององค์กรจึงต้องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแบบไร้รอยต่อ นั่นคือไม่ว่าจะแบ่งออกเป็นกี่แผนก กี่ฝ่าย ก็ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน มีทิศทางเดียวกัน และมีความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งจะทำได้สำเร็จก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนเป็นทีมเดียวกัน

ปัจจัยสำคัญประการที่สองคือน้ำใจนักกีฬา เพราะการทำงานในปัจจุบันล้วนมีการแข่งขันกันไม่ต่างอะไรกับกีฬาแมทช์สำคัญ​ๆ แต่เราก็ต้องรู้แพ้รู้ชนะเช่นเดียวกันนักกีฬาที่ยังคงเป็นเพื่อนรักกันแม้จะห้ำหั่นกันมาอย่างเต็มที่ในเวทีการแข่งขัน

สังคมการทำงานยุคปัจจุบันทำให้เราต้องใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานไม่แตกต่างจากสมาชิกครอบครัวเลย หากไม่เข้าอกเข้าใจกัน หรือทำงานด้วยการผูกใจเจ็บ จ้องจะขัดขากัน แก้แค้นกัน ก็ย่อมแสวงหาความสำเร็จได้ยากยิ่ง

การทำงานเป็นทีมจึงต้องควบคู่ไปกับการมีน้ำใจนักกีฬา ที่รู้แพ้รู้ชนะ และให้อภัยทีมงานหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น และต้องหาทางแก้ไขไปด้วยกัน อาจมีโต้เถียงกัน แต่เมื่อตัดสินใจไปแล้วก็ต้องยึดตามนั้นและพยายามสร้างความสำเร็จร่วมกันให้เต็มที่ และเมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องรู้จักปล่อยวางและยังมีมิตรภาพที่ดีต่อกันได้

ประการที่สามต้องรู้จักยอมรับความแตกต่างของคน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ไปจนถึงความต่างระหว่างสาขาอาชีพ เช่นพนักงานในแต่ละฝ่ายเช่นฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฯลฯ ที่ล้วนมีวิธีคิดและรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกันเลย

ไม่มีทางที่องค์กรๆ หนึ่งจะมีคนที่มีบุคลิกลักษณะและอุปนิสัยเหมือนกันไปทั้งหมด เพราะความแตกต่างของคนเป็นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการอยู่รอดมาได้จนถึงวันนี้ เมื่อความแตกต่างไม่ใช่ความผิดปกติใดๆ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความแตกต่างนี้ และหาทางใช้เป็นพลังสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรให้ได้

ความแตกต่างของแต่ละคนหรือแต่ละฝ่ายในองค์กร จัดการได้ด้วยการลดช่องว่าง และเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแต่ละคนได้สื่อสารกันเพื่อสร้างความร่วมมือ เสริมจุดอ่อนซึ่งกันและกันโดยใช้เหตุและผล รวมถึงเป้าหมายร่วมกันซึ่งเป็นขององค์กรในภาพรวม

ปัจจัยที่สี่ต้องรู้จักผ่อนคลาย ลดความเครียดในองค์กร อย่ายึดเอาตัวเองหรือฝ่ายของตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องพยายามสื่อสารร่วมกันให้มากที่สุด ซึ่งหัวใจของการสื่อสารนั้นอยู่ที่การสร้างความเป็นกันเอง และสร้างความผ่อนคลายด้วยการใช้อารมณ์ขันจึงเป็นเทคนิคสำคัญที่สุด

ยิ่งองค์กรมีเป้าหมายใหญ่ ความกดดันที่เกิดขึ้นอาจบ่มเพาะความเครียดให้พนักงานทีละน้อยๆ การลดความเครียดด้วยอารมณ์ขันจึงช่วยสร้างความเป็นกันเอง ลดช่องว่างของแต่ละฝ่าย และทำให้ทุกคนกลับมามองที่เป้าหมายร่วมกันได้ชัดเจนกว่าเดิม

องค์กรยุคใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างสมดุลระหว่างความเฉลียวฉลาดในมิติต่างๆ ทั้งสติปัญญา อารมณ์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งล้วนมีความสำคัญไม่แพ้กัน ขึ้นอยู่จังหวะเวลาและการเลือกใช้ให้ตรงกับสถานการณ์