ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ (1)

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ (1)

ผมให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์เป็นพิเศษ

เพราะเป็นโรคที่ค้นพบมาเกือบ 115 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มียารักษา มีแต่เพียงยาเพื่อชะลออาการได้เพียงเล็กน้อยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยาโดยคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐเพียง 5 ชนิด

นอกจากนั้นสถิติของการเป็นโรคอัลไซเมอร์นั้นก็เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นในโลกที่ประชากรโดยเฉลี่ยแก่ตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การมีอายุเกินกว่า 65 ปีเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่สูงที่สุด ในกรณีของโรคอัลไซเมอร์โดยประมาณการว่าในกลุ่มคนที่อายุ 80 ปีหรือมากกว่านั้นมีสัดส่วนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มากถึง 30-40%

            มนุษย์ยังไม่ทราบว่าโรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นจากอะไร แต่ทราบว่ามียีนประมาณ 50 ยีนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (association) การเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคนี้โดยอาจแบ่งการเกิดขึ้นของโรคอัลไซเมอร์ได้เป็น 2 กรณีหลักๆ คือการเกิดขึ้นในช่วงที่อายุยังไม่มาก (early onset of Alzheimer’s) ประมาณอายุกลางคนหรือส่วนใหญ่คือเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้สูงอายุ (late-onset of Alzheimer’s) ดังที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้น

            ข้อมูลจาก Mayo Clinic สรุปว่าสำหรับการเป็นโรค late onset of Alzheimer’s นั้นพบว่ามียีนอย่างน้อย 7 ตัวที่อาจมีการเกี่ยวเนื่องในการเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคดังกล่าวได้ เช่น ยีน CLU ที่ทำหน้าที่กำจัด Amyloid Beta ที่เกาะตัวบนเปลือกสมองทำให้สมองฝ่อหรือยีน CRI ที่เมื่อขาดแคลนจะสามารถนำไปสู่การอักเสบของสมองทำให้สมองเสื่อมสภาพ และยีน PLD3 ที่จากสถิติพบว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรค late onset of Alzheimer’s

ซึ่งตรงนี้ผมต้องขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับความเสี่ยงเท่านั้น การมีหรือไม่มียีนดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสาเหตุของการเป็นโรคหรือมีกลไกอะไรที่ทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์ แตกต่างจากบางโรค เช่น โรคเลือด Thalassemia ที่เป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของยีนที่ทำให้มีความผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้เพียงพอ เป็นต้น

            อย่างไรก็ดีก็ได้มีการทำงานวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับยีน APOE กับการเป็นโรค late onset Alzheimer’s ซึ่งผมจะขอนำมาเขียนถึงในตอนนี้เพราะปัจจุบันนี้เราสามารถตรวจร่างกาย (โดยผ่านผู้ที่ให้บริการตรวจสอบพันธุกรรมของบุคคล เช่น 23andme) ว่าตัวของเรานั้นมียีน APOE ประเภทไหน ซึ่งจะบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค late onset Alzheimer’s มากน้อยเพียงใด

            ยีน APOE นั้นมีความสำคัญต่อร่างการอย่างมากเพราะทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่เรียกว่า apolipoproteinE ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการสร้างถุงใส่ไขมัน (lipoprotein) ที่นำเอาไขมัน (lipid, cholesterol) มีเลือดไปให้ร่างกายใช้งานโดย APOE นั้นมีอยู่ 3 ประเภทที่เราจะได้รับเป็นคู่มาจากบิดาและมารดาคือ APOEe2, APOEe3 และAPOEe4

กล่าวคือเราจะมี APOE (e2, e2) APOE (e2, e3) APOE (e2, e4) APOE (e3, e3) และ APOE (e4, e4) ซึ่งหากใครมี APOE (e2, e2) นั้นก็ต้องบอกว่าน่าจะเป็นผู้ที่โชคดีอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้แทบจะไม่เป็นโรค late onset Alzheimer’s เลย

หากอิงกับผลงานวิจัยร่วมเมื่อปี 2019 ของ Banner Alzheimer’s Institute, Boston University, Massachusetts General Hospital และ AD Genetics ที่ชันสูตรสมองของผู้สูงอายุที่เสียชีวิตแล้ว 5,007 คน (เป็นผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์  4,0108 ราย) พบว่า

1.คนที่มียีน APOE (e2, e2) มีเพียง 24 คน (0.5% ของจำนวนคนในงานวิจัยทั้งหมด) แต่เป็นโรคอัลไซเมอร์เพียง 5 คน (0.1% ของจำนวนคนทั้งหมดที่เป็นโรคอัลไซเมอร์)

2.คนที่มียีน APOE (e4, e4) มี 633 คน (15.6% ของคนทั้งหมด) แต่มีที่ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์เพียง 10 คน เท่านั้น

3.คนส่วนใหญ่ที่มี APOE e2, e3, e4 ผสมกันไปตามประเภทที่เหลือ 3 แบบซึ่งมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป เช่น คนที่มี APOE (e2, e3) ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ต่ำกว่าคนที่มี APOE (e3, e3) ถึง 87% แต่การมี APOE (e3, e3) ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ต่ำกว่าคนที่มี APOE (e4, e4) ถึง 99.6% เป็นต้น

ทำไมการมี APOE e4 จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ?

มีงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s and Dementia (June 2020)  ที่ค้นพบข้อมูลใหม่ที่ได้มาจากการใช้หนูทดลองและให้คำอธิบายว่า APOE มีหน้าที่นำเอาไขมัน (lipid) เข้าไปให้สมองนำไปใช้โดยจะทำงานร่วมกับ Sortilin (ใช้คำศัพท์ภาษอังกฤษว่า APOE binds to the receptor  Sortilin) เพื่อเอาไขมันเข้าไปสู่นิวรอน (neurons) หรือเซลล์สมอง

 แต่ปรากฏว่าในกรณีที่มี APOE e4 นั้น ตัว APOE และ Sortilin ไปอุดตันในเซลล์สมองไม่สามารถพาตัวเองออกมาทำหน้าที่อย่างต่อเนื่องในการลำเลียงไขมันได้ (clumps inside the  cells) ซึ่งการอุดตันนั้นนำไปสู่การอักเสบของเซลล์สมองซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้สมองเสื่อม ทั้งนี้การอุกตันดังกล่าวไม่เกิดขึ้นในกรณีของ APOE e2 และ APOE e3

ข้อมูลข้างต้นนั้นบางคนอาจถามว่าจะมีประโยชน์เพียงใดสำหรับการปฏิบัติตัวของเรา (โดยเฉพาะหากเราพบว่าเรามี APOE e4 ทั้งสองตัว) เพราะการมียีนตัวใดตัวหนึ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะเลือกเองหรือเปลี่ยนแปลงได้

 คำตอบคือในระยะยาวนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดต่อยีนหรือ Crispr gene editing แห่งสถาบัน Broad Institute (ของมหาวิทยาลัย Harvard ร่วมกับ MIT) ชื่อ Feng Zhang ได้ตั้งบริษัทชื่อว่า Beam Therapeutics ขึ้น ซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า RNA Editing ภายให้โครงการ RNA Editing for Specific C to U Exchange (RESCUE) ที่สามารถดัดแปลงส่วนประกอบของ RNA (ที่รับคำสั่งมาจาก DNA เพื่อนำไปผลิตโปรตีน) จากยีนที่เป็น APOE e4 แต่สามารถปรับเปลี่ยนมาผลิตยีนที่เป็น APOE e2 ได้สำเร็จเมื่อปี 2019

นอกจากบริษัท Beam Therapeutics แล้วก็ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภาคตะวันตกของสหรัฐที่กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในการตัดต่อยีนแบบ RNA Editing เพื่อรักษาโรคต่างๆ อีกด้วย

ในระหว่างนี้เราควรทำตัวอย่างไร? มีงานวิจัยที่ติดตามดูสถิติของผู้ที่มียีน  APOE e4 พบว่าคนกลุ่มนี้สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญโดยการระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้มีความดันโลหิตสูงในช่วงวัยกลางคนและจะต้องหลีกเลี่ยงการเป็นโรคเบาหวานให้ได้อย่างที่สุด เพราะ 2 โรคนี้จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เป็นโรคอัลไซเมอร์เมื่อแก่ตัวลง

ครั้งต่อไปผมจะเขียนถึงประโยชน์ของการออกกำลังการอย่างเป็นประจำ โดยเฉพาะการวิ่งออกกำลังกายในการช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ครับ.