Climate Change กับมูลค่าเพิ่มทางการลงทุน

Climate Change กับมูลค่าเพิ่มทางการลงทุน

ปกติแล้วสำหรับนักลงทุนหลายคน เวลาได้ยินคำว่า Climate Change มักจะพากันเบือนหน้านี้  เพราะดูแล้วน่าจะเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

 ที่ไม่เห็นว่าจะมีผลอะไรกับชีวิต หรือช่วยในการหาเงินหาทองแต่อย่างใด

แม้ว่าในระยะหลังเราเริ่มจะรับรู้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ใกล้ตัวมากขึ้นอย่างกรณี PM 2.5 แต่นั่นก็อาจเป็นเพียงแค่ตัวกระตุ้นให้หลายคนต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศ และหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเท่านั้น

“การลดภาวะโลกร้อน” นั้น มิใช่คำพูดที่ไกลเกินตัว แต่ยังสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินลงทุนของเราได้อีกด้วย

ก่อนอื่นต้องขอปูพื้นสักเล็กน้อยว่าประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงไทยนั้น ได้ตระหนักถึงภัยพิบัติอันจะเกิดขึ้นกับโลกและมนุษยชาติ หากปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ต่อไป จึงได้มีการจัดตั้งกลไกต่างๆขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2535 สืบเนื่องมาจนถึงพ.ศ. 2558 ก็ได้มีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จนเกิดเป็น “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ขึ้น

ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญ คือ การตั้งเป้าหมายร่วมกันขั้นพื้นฐานของ 197 ประเทศ ที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2°C พร้อมกำหนดเป้าหมายที่เป็นมาตรฐานสูงขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดยจะพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยให้น้อยลงไปอีก จนต่ำกว่า 1.5°C (หากสามารถกระทำได้) ทั้งนี้ จะคำนึงถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศด้วย

ทำไมต้องเป็น 2°C? คณะกรรมการของสหประชาชาติฯ (IPCC) ได้คาดการณ์ผลกระทบไว้ว่า หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นถึง 2°C พื้นที่ชายฝั่งกว่า 70% ของโลกจะเกิดน้ำท่วม โดยระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20 ซม. น้ำสะอาดจะขาดแคลน รวมถึงมีผลกระทบอื่นๆต่อระบบนิเวศน์และการดำรงชีพของมนุษย์ ส่วนองค์การนาซ่าก็ได้อ้างอิงรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในปี 2560 ว่า 2.3% ของ GDP สหรัฐฯ จะลดลง ในทุก ๆ 1°C ที่โลกร้อนขึ้น หรือคิดเป็นประมาณ 446,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แล้วทุกวันนี้โลกร้อนแค่ไหนแล้ว? จากข้อมูลในพ.ศ. 2560 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 1°C แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและประชาชนทั่วโลกต้องช่วยกันรักษาระดับของอุณหภูมิเอาไว้ให้ได้ โดยภายใน พ.ศ. 2573 สหภาพยุโรปมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือเพียง 55% (เมื่อเทียบกับพ.ศ. 2533) ในขณะที่จีนมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซลงอย่างน้อย 65% (เมื่อเทียบกับพ.ศ. 2548) ส่วนไทยนั้นตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 20.8% (เมื่อเทียบกับกรณีที่เป็นการดำเนินงานตามปกติของตน)

สำหรับกลไกที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป สหภาพยุโรปน่าจะเป็นตัวอย่างที่จริงจังและเข้มงวดที่สุด ซึ่งนอกจากจะมีตลาดซื้อขายสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเรียกเก็บภาษีการปล่อยก๊าซในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานในการผลิตสูง โดยคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีจาก 25 ยูโรเป็น 35 ยูโรต่อตัน และกำลังพิจารณาออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เพื่อให้สินค้านำเข้าต้องจ่ายต้นทุนในการปล่อยก๊าซเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในกลุ่มประเทศอีกด้วย

จีนก็มีตลาดซื้อขายสิทธิฯ และปรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นเงิน 30,000 หยวน ส่วนไทยเองนั้นได้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดยปัจจุบันไม่มีการกำหนดภาษี หรือค่าปรับทางกฎหมาย

ที่เล่ามายืดยาวนี้ ก็เพื่อจะให้เห็นภาพว่าบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆทั้งในและต่างประเทศล้วนแล้วแต่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบไม่ว่าจะเป็นในประเทศของตน หรือเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศที่ตนเองจะส่งสินค้าไปขาย ดังนั้น ธีมการลงทุนด้าน Climate Change ที่ใช้การคาดการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อผลประกอบการ จึงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงานสะอาด ก่อสร้าง ผลิตชิ้นส่วนที่ลดโลกร้อน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ขนส่งแบบยั่งยืน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ เพื่อโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้นจากผลประกอบการที่ดีกว่านั่นเอง

เพราะอนาคตของโลกนั้นอยู่ในมือของพวกเราทุกคน