พัฒนานักเรียน-บุคลากร วงการการศึกษาช่วงโควิด

พัฒนานักเรียน-บุคลากร  วงการการศึกษาช่วงโควิด

วงการการศึกษาและธุรกิจที่เกี่ยวข้องถือเป็นอีกวงการหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

การระบาดระลอกแล้วระลอกเล่านั้น ทำให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ เปิด-ปิดไม่เป็นเวลา ค่าใช้จ่ายคงที่จากค่าจ้างงานนั้นไม่สัมพันธ์กับจำนวนรายได้ที่ลดลง ทั้งจากรายได้เสริมอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าเทอม และจำนวนนักเรียนที่ลดลงอันเนื่องมาจากการย้ายโรงเรียนเพราะสภาพคล่องในครอบครัวฝืดเคืองยิ่งขึ้น

ความลังเลในทางเลือกของการศึกษาเพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ ทั้งการเลือกโรงเรียน การเลือกที่จะศึกษาต่อนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงไป ทางเลือกในการลดค่าใช้จ่ายในการเสริมทักษะ เลือกที่เรียนที่ค่าเทอมไม่สูงมาก ส่งผลให้สถาบันการศึกษาและบุคลากรโดยเฉพาะในภาคเอกชนจำเป็นต้องรีบปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

ปกติแล้ว ภายใต้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฝืดเคือง โอกาสในการทำรายได้และกำไรอยู่ในระดับต่ำจนเกิดผลทำให้ปริมาณงานลดลงนั้น ทางเลือกหนึ่งที่ธุรกิจมักจะนำมาใช้เพื่อไม่ให้สูญเสียเวลาและโอกาสอันมีค่าไปโดนเปล่าประโยชน์นั้นคือ การอบรมและพัฒนาบุคลากร

ภาคธุรกิจมักจะใช้เวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอยในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของคนในองค์กรเพื่อเตรียมรับมือกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเศรษฐกิจนั้นมีการฟื้นตัว ซึ่งเราสามารถเรียนรู้และหยิบแนวคิดนี้มาใช้กับการบริหารทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษาได้ ทั้งในฐานะของผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ

ในฐานะผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัยเอกชน ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการโฟกัสในด้านกำไรขาดทุน เช่น การปรับองค์กรให้ทันสมัยก้าวสู่สังคมออนไลน์มากขึ้นแล้ว การโฟกัสในด้านของการดูแลบุคลากรในยามวิกฤตินั้นก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะธุรกิจการศึกษานั้นเป็นธุรกิจบริการ และหัวใจของธุรกิจนี้คือ ผู้ให้บริการ

การอบรมและพัฒนาบุคลากร นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการฝึกอบรมในสถานที่ นอกสถานที่ ฝึกอบรมกับเองภายใน หรือการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหาและผลสำเร็จจากการฝึกอบรมนั้น เพราะงบประมาณที่จำกัดในปัจจุบัน การฝึกอบรมภายใน การใช้บุคลากรภายในองค์กรจึงเป็นที่นิยม

วิทยากรที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กรเพราะมีที่มาจากการทำงานในองค์กรจนได้ดีเป็นตัวอย่างนั้นมีข้อดีในการเข้าใจปัญหา เข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่องค์กรสมควรปรับปรุง แต่ก็มีข้อด้อยในทางทฤษฎีคือ มุมมองการแก้ไขปัญหาอาจจะไม่บูรณาการ ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในระดับต่ำเพราะเข้าใจข้อจำกัดขององค์กรแต่เดิมมากเกินไปจึงเห็นอุปสรรคที่จะล้มเหลวมากกว่าหนทางใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาให้องค์กรดีขึ้นได้

ในฐานะผู้รับบริการทางการศึกษาอย่างพ่อแม่ผู้ปกครองหรือนักเรียนนักศึกษาเอง การพัฒนาทักษะความรู้อย่างต่อเนื่องนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาศักยภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เปี่ยมไปด้วยเนื้อหานั้นที่มีคุณภาพ แหล่งความรู้ออนไลน์ทั้งจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแพลตฟอร์มทางการศึกษาต่าง ๆ อย่าง MOOC ห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ที่บรรจุสรรพวิชา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาทักษาความรู้ (ซึ่งสามารถหาอ่านรายละเอียดได้ในคอลัมน์เก่า ๆ ของผม)

หากพ่อแม่ผู้ปกครองลองเปิดใจ ใช้เวลาสักครู่ศึกษาค้นคว้าถึงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในหลากหลายแพลตฟอร์มนี้ กรองคุณภาพให้ดี เลือกเนื้อหาให้เหมาะสมแล้ว ค่าใช้จ่ายจากการเรียนพิเศษและความเครียดจากการต้องทำหน้าที่เป็นครูและติวเตอร์ที่บ้านน่าจะลดลงได้

ทุกคนล้วนได้รับความยากลำบากและจำต้องปรับตัวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปให้ได้ การลองหาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงความรู้และพัฒนาทักษะที่ทั้งถูกและดี จึงอาจจะเป็นคำตอบที่ดีอันหนึ่งก็เป็นได้