กระชากไทยให้พ้นกับดัก

กระชากไทยให้พ้นกับดัก

2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับโจทย์จากหลากหลายเวทีที่คำถามพ้องต้องกันคือ จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

 การที่ผู้เขียนได้รับคำถามดังกล่าว ต่างกรรมต่างวาระ บ่งชี้ว่าหลายภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง

 แม้ว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังคงจมปลักในกับดักรายได้ปานกลาง อันเป็นสถานะที่เราติดมาตั้งแต่ก่อนทศวรรษที่ 90 หรือกว่า 30 ปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าเราอาจจะติดไปอีกกว่า 15 ปีเป็นอย่างน้อย

 หากถามนักวิชาการ ว่าเพราะเหตุใดเรายังติดหล่ม ขณะที่เพื่อนบ้านรายแล้วรายเล่ากำลังแซงเราไปเรื่อย ๆ คำตอบอาจได้ว่าเราขาดการลงทุนมายาวนาน บุคลากรเราไม่มีประสิทธิภาพ การศึกษาเรามีปัญหา เรามีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างยาวนาน เป็นต้น

 แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาในไทยในปัจจุบัน คือขาดการมองเป็นองค์รวม มองเป็นภาพใหญ่ แล้วเคลื่อนทุกองคาพยพให้ตอบโจทย์เหล่านั้น เช่น ปัญหาส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัย ทำให้อุปสงค์หรือความต้องการในประเทศอ่อนแอระยะยาว เราขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เน้นพึ่งนโยบายการคลังมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมากเกินไป ขณะที่พึ่งนโยบายการเงินและนโยบายเชิงโครงสร้างน้อยเกินไป

 ถ้าเรามองภาพเหล่านี้ครบ ก็จะตอบหลายโจทย์ได้ในที่เดียว เช่น ใช้นโยบายการเงินมาอุดหนุนนโยบายการคลัง นโยบายเชิงโครงสร้างเน้นการเปิดเสรีมากขึ้น เพิ่มแรงงานมีฝีมือจากต่างชาติ เพิ่มโอกาสให้สถาบันการศึกษาระดับโลกมาเปิดในไทย เป็นต้น

 หากจะแก้ปัญหาในระยะยาวให้ถูก สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องมองภาพเศรษฐกิจโลกในระยะยาวให้ถูกต้อง เช่น เกิดสงครามเย็นรุนแรง แบ่งเป็นฝั่งเป็นฝ่าย เกิด Splinternet การพัฒนาของโลกจะเป็นไปในทิศทางใด เศรษฐกิจโลกจะยังคงซึมเซายาวนาน หรือ Secular stagnation หรือไม่ เทคโนโลยีใดจะเป็นอนาคต ซึ่งภาพเหล่านี้ จะทำให้กำหนดฉากทัศน์ของไทยได้มากขึ้น

 เมื่อทราบฉากทัศน์ของโลก ก็มาปรับกับไทย เพื่อที่จะตอบคำถามสำคัญ เช่น หลัง COVID เรายังจะได้นักท่องเที่ยวในระดับ 40 ล้านคนต่อไปได้หรือไม่ หากไม่ได้ เช่น ภาวะสมดุลในระยะต่อไปคือนักท่องเที่ยว 20 ล้านคนต่อปี เราจะต้องได้รายได้คนละเท่าไรต่อหนึ่งการเดินทาง (ทริป) ของนักท่องเที่ยวแต่ละคน เช่น จากเดิมได้ทริปละ 50,000 บาท ต้องได้ทริปละ 100,000 บาทหรือมากกว่า (ไม่รวมค่าเครื่องบิน) ซึ่งนั่นแปลว่าต้องใช้จ่ายวันละ 20,000 บาทหรือมากกว่า ซึ่งนักท่องเที่ยวระดับนั้นเป็นใคร และเรามีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเขาเพียงพอหรือไม่

 ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาเราเน้นแต่ด้านการคลัง ซึ่งแม้การคลังเป็นเครื่องมือหลักของภาครัฐ แต่ไม่ใช่เครื่องมือเดียวทั้งหมด นโยบายที่สำคัญอีกประการคือ นโยบายการเงิน ถ้าเราเป็นประเทศที่มีระดับการเปิดประเทศ  (Degree of openness) มาก นโยบายการเงินมีความสำคัญอย่างยิ่งแน่นอน และยิ่งถ้านำมาสนับสนุนนโยบายการคลัง เช่น ทำนโยบายการเงินผ่อนคลายแม้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาบ้าง เพื่อกดให้ต้นทุนทางการเงินของภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ ภาครัฐก็จะสามารถทำนโยบายการคลังเพื่อช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น

 ในส่วนนโยบายการคลัง นักวิชาการส่วนใหญ่จะเน้นหนักเรื่องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยเฉพาะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ และเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี แต่เป็นไปได้ยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เติบโตต่ำลง รายได้ต่อหัวยิ่งแย่ลง โดยใน 7 ปีที่แล้ว อัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวรูปเงินบาทของไทยประมาณ 2% ต่อปี ต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปีที่แล้วที่เกิด COVID อัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวรูปเงินบาทหดตัวไปถึง -8.5% แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะติดลบ -6.1% ก็ตาม

 และยิ่งในอนาคต อัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP จะต่ำลงเรื่อย ๆ จากประมาณ 3.5% ในปัจจุบันเป็น 1.7% ในอีก 15 ปีข้างหน้า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอย่างชัดเจน  ซึ่งจะทำให้คนรายได้น้อยก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น

 ในส่วนของการลงทุนภาครัฐที่พยายามผลักดัน งานวิจัยทั้งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บ่งชี้ชัดเจนว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการผลักดันเศรษฐกิจในอนาคตที่สุด คือการลงทุนโครงสร้างโทรคมนาคม แต่ภาครัฐกลับให้ความสำคัญน้อยที่สุด โดยงานของ สศค. บ่งชี้ว่า หากลงทุนด้านดังกล่าว 100 บาท จะได้ผลตอบแทนถึง 727 บาทใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่งานของ ธปท. บ่งชี้ว่า หากจะให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เราต้องเพิ่มระดับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 5% ของ GDP ต่อปี (หรือคิดเป็นวงเงิน 8.5 แสนล้านบาทต่อปี) โดยต้องลงในโครงข่าย ICT เป็นหลัก เพื่อเพิ่มระดับ 5G Participation rate จากระดับ 0% เป็น 80% ในอีก 9 ปีข้างหน้า

 คำถามสำคัญคือ หากลงทุนในระดับดังกล่าวแล้ว เงินจะพอไหม งานวิจัยของ IMF บ่งชี้ว่า ต่อให้เราเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐถึงกว่า 8.5% ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ของเราก็จะยังไม่ทะลุ 60% ซึ่งเป็นเพดานของกรอบความยั่งยืนการคลัง (โดยจะเข้าใกล้จุดดังกล่าวในปี 2025) เพราะการลงทุนที่มากขึ้นจะทำให้ GDP ขยายตัวดีขึ้น และ IMF ยังแนะนำว่าควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเงินโอนให้กับประชาชนรายได้น้อยเป็นหลัก และ ธปท. ควรช่วยด้วยการไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

 ข้อสรุปดังกล่าวเป็นเช่นเดียวกับการวิเคราะห์ของผู้เขียนเมื่อ 2 ปีก่อน โดยศึกษาถึงระดับการก่อหนี้ของรัฐบาลกลางต่อผลของการที่ประเทศจะหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลางพบว่า ประเทศมีหนี้สาธารณะในระดับที่เหมาะสม เช่น ระดับประมาณ 80-120% ของ GDP ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง จะทำให้รายได้ต่อหัวเติบโตในระดับ 10% ต่อปีหรือมากกว่า และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ 

มองไปข้างหน้า เรากำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การค้าออนไลน์ (E-commerce) พลังงานสะอาด (Clean energy) รวมถึงกระแส Fintech ต่าง ๆ ซึ่งเรายังไม่ได้เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ และยังไม่มีการลงทุน วิจัยพัฒนา และนโยบายอุดหนุนอย่างเพียงพอ 

ถ้าเรายังคิดไม่ครบ ไม่เตรียมพร้อม แล้วเราจะหลุดพ้นจากหล่มเศรษฐกิจที่ตกมากว่า 30 ปีได้หรือไม่.

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่