ทิศทางบริการทางการเงินในปี 2021

ทิศทางบริการทางการเงินในปี 2021

สวัสดีครับ ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้ผู้ให้บริการในด้านต่างๆ

 รวมถึงด้านการเงินและการธนาคารต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด  ผู้ให้บริการรายใดที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วก็ย่อมกลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่น เพียบพร้อม และสามารถดึงดูดลูกค้าได้ก่อนใคร  ในเรื่องนี้ Wunderman Thompson Intelligence บริษัทที่ปรึกษาด้านการสื่อสารการตลาดชั้นนำ ได้นำเสนอผลการวิเคราะห์กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเงินได้อย่างน่าสนใจผ่านรายงาน The Future 100 Trends and Change to Watch in 2021 ดังนี้

 E-wallet Wars: การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปีก่อนเร่งให้โลกเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วขึ้น โดยในปี 2020 บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Bain & Company ทำการสำรวจและพบว่าการใช้เงินสดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงจากร้อยละ 48 เหลือร้อยละ 37 ในขณะที่ธุรกรรม e-wallet เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 25 เนื่องจาก e-wallet ช่วยให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอยได้อย่างคล่องตัว ไร้กังวลเรื่องความสะอาด  อีกทั้ง e-wallet ค่ายใดที่เชื่อมต่อบริการรับชำระสินค้าเข้าร้านค้าอื่นได้หลากหลาย ก็จะสามารถขยายเครือข่ายให้ลูกค้าชำระค่าต่างๆ ได้อย่างครบครันและไร้รอยต่อ  เรียกได้ว่ายิ่ง e-wallet แข่งขันกันนำเสนอส่วนลดส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรของตนมากเท่าไร ก็ยิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ามากกว่าเดิม ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาลูกค้าไว้

Social Media Credit: ในปัจจุบัน บางคนสร้างรายได้จากช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และการรับโฆษณาสินค้าต่างๆ แต่เนื่องจากไม่ได้จัดทำเอกสารการทำงานไว้เป็นหลักฐานจึงไม่เข้าเกณฑ์ของธนาคาร และพลาดโอกาสได้รับสินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจ  บริษัทบัตรเครดิต Karat เข้าใจลักษณะอาชีพและมองเห็นศักยภาพของลูกค้าประเภทนี้จึงได้ทดลองออกบัตรให้แก่กลุ่มนำร่องและกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครที่ต่างจากหลักเกณฑ์ทั่วไป คือมีเงินในบัญชี 100,000 ดอลลาร์ขึ้นไป และมียอดผู้ติดตามใน YouTube Instagram หรือ TikTok รวมกันอย่างน้อยหนึ่งล้านคน โดย Karat Black Card ใช้ได้ทุกที่ที่รองรับบัตรเครดิต VISA

 Unbiased Banking: ผู้ให้บริการทางการเงินใหม่หลายรายเล็งเห็นถึงข้อจำกัดของลูกค้าบางกลุ่มในการเข้าถึงบริการทางการเงิน จึงเกิดแนวคิดที่จะสนับสนุนลูกค้าที่ถูกมองข้ามไปเหล่านี้ เช่น Greenwood เป็นแอปพลิเคชันทางการเงินที่จะเน้นให้บริการแก่ผู้บริโภคผิวสีและผู้บริโภคชาวลาตินที่มักมีอุปสรรคในการขอสินเชื่อจากธนาคาร แต่ในขณะเดียวกัน Greenwood ก็ยินดีรับลูกค้าเชื้อสายอื่นด้วยเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจทั้งชุมชนเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกัน  ส่วนธนาคารรายใหม่ Simba ช่วยให้ผู้ที่อพยพจากประเทศอื่นเปิดบัญชีได้ง่ายขึ้น  เรียกดูเพียงหนังสือเดินทางและที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา  ไม่ต้องใช้หมายเลขประกันสังคมหรือหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีแบบพลเมืองอเมริกัน

China Fintech: บรรดาบริษัท e-Commerce และสื่อโซเชียลมีเดียในจีนเปิดตัวบริการใหม่ๆ อยู่เสมอ และหนึ่งในบริการล่าสุดคือการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน เช่น ในเดือนสิงหาคม 2020 Tencent Holdings เริ่มให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนผ่าน Teng Ang Fund และต่อไปจะขยายบริการนี้สู่ WeChat ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่าหนึ่งพันล้านคน  เป็นวิธีการนำเสนอบริการอื่นให้แก่ฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่แล้วจำนวนมากแทนการเสียค่าโฆษณาหรือใช้ความพยายามในการชักชวนลูกค้าใหม่

Insurtech: คือการประกันโดยอาศัยเทคโนโลยีข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อปรับปรุงโมเดลวิเคราะห์ความเสี่ยงให้แม่นยำกว่าการใช้เครื่องมือเดิมๆ  เช่น ในเดือนกรกฎาคม 2020 Elon Musk กล่าวว่าจะก่อตั้งบริษัทประกันซึ่งใช้ข้อมูลจากรถไฟฟ้า Tesla เพื่อให้วิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นผู้ที่ขับขี่อย่างปลอดภัยก็จะได้รับรางวัลในรูปแบบของอัตราเบี้ยประกันที่ถูกลง

Impact Investments: รายงานวิจัยของ RBC Capital Markets เผยว่าการลงทุนแบบสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมในที่สุดก็เริ่มให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนแบบดั้งเดิมในปีที่ผ่านมา  นักลงทุนสมัยใหม่มิได้คำนึงถึงกำไรเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังพิจารณาเลือกลงทุนในบริษัทที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก บริษัทที่มีนโยบายความหลากหลาย (Diversity) หรือบริษัทที่มุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป็นต้น  และการที่สถาบันการเงินต่างๆ นำเสนอทางเลือกการลงทุนซึ่งตอบโจทย์นักลงทุนที่ตระหนักถึงมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นส่งผลให้หลายบริษัทคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ กว่าเดิมเช่นกัน

 ตัวอย่างบริการทางการเงินที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นทิศทางการเติบโตของธุรกิจการเงินและการธนาคารที่กำลังปรับให้สอดคล้องสำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการทำความเข้าใจคุณลักษณะอันแตกต่างของกลุ่มลูกค้าต่างๆ  เมื่อการใช้หลักเกณฑ์ชุดเดียวในการวัดประเมินลูกค้าทุกประเภทอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ผู้ให้บริการจึงต้องออกแบบสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคยุคปัจจุบันให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น