ตลาดหุ้น กับ เงินเฟ้อ

ตลาดหุ้น กับ เงินเฟ้อ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั่วโลกมากที่สุด คือการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ

ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากสถานการณ์โควิด-19ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนในสหรัฐฯ หลังมีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลง จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันที่ลดลง และจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ลดลงเช่นกัน

เมื่อบวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดนที่มีมูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีโอกาสทะยานสูงขึ้นเกินเป้าหมายระยะยาวที่ 2% ของ Fed ซึ่งอาจกดดันให้ Fed จำเป็นต้องลดวงเงิน QE เร็วกว่าคาด รวมทั้งอาจนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่เร็วขึ้นอีกด้วย 

ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อสะท้อนชัดเจนในตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Bond Yield อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศรวมทั้งไทย ปรับขึ้นถึงเกือบหนี่งเท่าตัวในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา

Bond Yield ที่สูงขึ้น นอกจากจะทำให้ราคาพันธบัตรลดลง ยังส่งผลให้ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบในทางลบไปด้วย โดยเฉพาะหุ้นประเภทเติบโตสูง เช่น หุ้นเทคโนโลยี หุ้นเมกะเทรนด์ต่างๆ เพราะกำไรในปัจจุบันของบริษัทเหล่านี้ยังค่อนข้างน้อย มูลค่าของบริษัทจึงมาจากศักยภาพในการทำกำไรในอนาคตเป็นหลัก เมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น มูลค่าหุ้นกลุ่มนี้ก็จะลดลงตามอัตราคิดลด หรือ Discount Rate ที่สูงขึ้น

สิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นห่วงมากที่สุดในเวลานี้ คือเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และทั่วโลกมีแนวโน้มจะกลับมาจริงอย่างที่สะท้อนในตลาดพันธบัตรหรือไม่?

โดยปกติ เมื่อเริ่มเกิดความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นกว่าระดับเป้าหมาย สูตรสำเร็จของธนาคารกลางคือการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ รวมทั้งอาจทำการดูดซับสภาพคล่องส่วนหนึ่งออกจากระบบการเงินเพื่อให้ภาวะเงินตึงตัวขึ้น

ที่น่ากังวล คือธนาคารกลางยุคนี้แทบไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤติเงินเฟ้อเลย เพราะเงินเฟ้อทั่วโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับเฉลี่ยเพียง 2-3% นับตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่บางประเทศเช่น ญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรโซน บ่อยครั้งต้องพยายามกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ  

ในความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่ายังเร็วเกินไปที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ และทั่วโลกจะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับที่เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนในระยะสองปีข้างหน้า ด้วยเหตุผลดังนี้

 หนึ่ง อัตราการว่างงานทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงกว่าระดับธรรมชาติค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19อยู่ที่ 3.5% แต่ในวันนี้ยังสูงถึง 6.2%     

 สอง ระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก ที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่วิกฤตโควิด-19เกิดขึ้นใหม่ๆ เริ่มกลับมาทำงานเกือบจะเป็นปกติแล้ว ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเร่งตัวขึ้นของต้นทุนการผลิต

 สาม กำลังการผลิตของทั่วโลกยังเหลือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ จึงน่าจะเพียงพอในการรองรับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ยกตัวอย่างประเทศไทย อัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่เพียง 64%

 สี่ การมาของโควิด-19ทำให้การซื้อของออนไลน์กลายเป็นพฤติกรรมปกติ ซี่งการที่ผู้บริโภคมีช่องทางในการซื้อสินค้าหลากหลายขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันของผู้ประกอบการสูงขึ้น และทำให้การขึ้นราคาสินค้าทำได้ยากขึ้น

แน่นอน ในระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า เงินเฟ้อในสหรัฐฯ และทั่วโลกมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกทำการ Lockdown เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19ในรอบแรก แต่จะเป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อสูงชั่วคราว จึงไม่น่านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

สำหรับเศรษฐกิจไทย แนวโน้มเงินเฟ้อยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน เพราะเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก และภาคท่องเที่ยวคงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีถึงจะฟื้นตัวสู่ระดับใกล้เคียงเดิม

ผมมองว่าตลาดทุนกังวลกับแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มากเกินไป การปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะรุนแรง และผมยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาส Outperform ตลาดหุ้นอื่นๆ ในระยะหนึ่งปีข้างหน้า