เงินเฟ้อ...ศัตรูของความมั่งคั่ง ?

เงินเฟ้อ...ศัตรูของความมั่งคั่ง ?

เป้าหมายสำคัญที่มักถูกลืมสำหรับการออมและการลงทุนคือ สร้างผลตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องชนะเงินเฟ้อ

เพื่อให้มั่นใจว่า ในอนาคต ความมั่งคั่งจะไม่ลดลงหรือความสามารถในการรักษาอำนาจซื้อของเงิน ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา การกล่าวถึงเงินเฟ้อแผ่วลงมากเพราะอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกลดลงต่อเนื่องสู่ระดับที่ต่ำกว่า 1.5%

แต่แล้ว...ในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อกลับปะทุขึ้นอีกครั้ง นอกจากมิติด้านเป้าหมายผลตอบแทนที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว เงินเฟ้อยังมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในแง่มุมต่างๆ ได้แก่

1. นโยบายการเงิน ธนาคารกลางมักกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในระดับที่สะท้อนถึงความสมดุลทางเศรษฐกิจ คือไม่ร้อนแรง (สูง) หรืออ่อนแอ (ต่ำ) จนเกินไป หากเงินเฟ้อต่ำ จะสะท้อนเศรษฐกิจหดตัว ธนาคารกลางอาจต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินเป้าหมายมากๆ ธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อยับยั้งภาวะฟองสบู่

2. เศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงเกินไปจะบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูงมากอาจผลักให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) เพิ่มขึ้น สร้างภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั้งของบุคคลและธุรกิจจะสูงขึ้น เมื่อต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะลดลง เช่นเดียวกับธุรกิจ ที่เมื่อต้นทุนการเงินสูงขึ้น ธุรกิจจะกำไรน้อยลงหรือเลือกที่จะไม่กู้เงินมาลงทุน และเศรษฐกิจจะชะลอตัวในที่สุด

3. การลงทุน หากตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงมาก Bond Yield จะพุ่งขึ้น และราคาพันธบัตรรวมทั้งหุ้นกู้จะลดลง (Bond Yield เปลี่ยนแปลงในทางตรงข้ามกับราคา) นอกจากนี้ นักลงทุนอาจเทขายหุ้นเพื่อย้ายเงินไปลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นแต่เสี่ยงน้อยกว่า หรือขายหุ้นเพราะรายจ่ายดอกเบี้ยสูงทำให้กำไรน้อยลงจนไม่น่าสนใจ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน นักลงทุนคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น เพราะเศรษฐกิจจะเปิดกว้างและฟื้นได้เร็วหลังมีการกระจายวัคซีนในวงกว้าง การคาดการณ์เงินเฟ้อที่อิงจาก U.S. 10-Year Breakeven Inflation Rate ล่าสุดอยู่ที่ราว 2.2% นับเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2014 จนผลักให้ Bond Yield พันธบัตร 10 ปี ปรับขึ้นเหนือ 1.5% และกดดันตลาดหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ที่ราคาเพิ่มขึ้นมากก่อนหน้านี้


คาดการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสร้างความกังวลต่อตลาดว่า Fed จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด เราประเมินว่า Fed จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 เมื่อเกิดการจ้างงานอย่างทั่วถึงและเงินเฟ้อสูงขึ้นถึงเป้าหมายที่ 2% อย่างยั่งยืน ในกรณีที่ Bond Yield ยังพุ่งต่อ Fed มีโอกาสที่จะออกมาตรการเพิ่มเพื่อคุมไม่ให้ Bond Yield สูงเกินไปจนไปลดประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ บั่นทอนการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า รวมทั้งเพิ่มต้นทุนการเงินให้กับรัฐบาลที่ปัจจุบันมีหนี้สูงเป็นประวัติการณ์อีกด้วย


เราคาดว่าปีนี้เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเพียงชั่วคราวในไตรมาส 2 และ 3 เท่านั้น เพราะฐานที่ต่ำมากในปีที่แล้ว ในระยะต่อไปจากนั้น เงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับต่ำ จากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ได้แก่ (1) ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบอัตโนมัติที่ลดต้นทุนการผลิต และการซื้อขายออนไลน์ที่ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา (2) กระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ผู้ผลิตแสวงหาวัตถุดิบที่ถูกลง และ (3) โครงสร้างประชากรโลก ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและมีจำนวนลดลง ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าไม่สูงมากจนทำให้ราคาเพิ่มขึ้นแรง


แม้ในระยะสั้น การสับเปลี่ยนกลุ่มหุ้นที่ลงทุน (Stock Rotation) จะดีต่อหุ้นวัฎจักรรวมทั้งเกิดแรงเทขายในกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นผู้ชนะในวิกฤตโรคโควิด-19 จนราคาเพิ่มขึ้นมาก แต่ศักยภาพบนพื้นฐานแห่งกระแสหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพาเทคโนโลยี และนวัตกรรม การใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบทบาทของจีนและเอเชียในเวทีเศรษฐกิจโลก นับวันจะชัดเจนขึ้น เราจึงแนะนำนักลงทุนที่รับความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นได้อาศัยช่วงตลาดหุ้นปรับฐานทยอยเข้าสะสมกองทุนรวมหุ้นในธีม Winner of the New Economy, Health is Wealth, Save the World, The Rise of China and Asia และ Cyclical Upturn

นอกจากหลักการลงทุน CORE + Satellite และการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุนแล้ว การกระจายช่วงเวลาที่เข้าลงทุน (Dollar-cost average) เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างขุมทรัพย์แห่งความมั่งคั่ง เช่นกัน