สาเหตุที่ bond yield ขึ้น และหุ้นลง

สาเหตุที่ bond yield ขึ้น และหุ้นลง

ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนคงได้เห็นคำอธิบายของนักวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง

ว่าเป็นผลมาจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง

ทั้งนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว มีหลายสาเหตุสอดคล้องกันที่ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าอาจจะต้องประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด โดยสาเหตุหลักได้แก่ การเร่งตัวของเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐพุ่งขึ้นจาก 48.52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ณ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สู่ 65.05 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในวันที่ 8 มีนาคม 2564 หรือปรับขึ้นกว่า 34% เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรนอกกลุ่มโอเปก (โอเปกพลัส) มีมติไม่ปรับเพิ่มปริมาณการผลิต โดยที่ซาอุดิอาระเบียปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจลงวันละ 1 ล้านบาร์เรล

สาเหตุต่อมาได้แก่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินเยียวยาจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 และในแผนการใช้เงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของนายโจ ไบเด็น ก็เตรียมที่จะแจกเงินเยียวยาเพิ่มเติม  การที่การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งมีสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของจีดีพีสหรัฐ อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งส่งผลให้มองได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และจะช่วยหนุนภาคการผลิตของสหรัฐให้เติบโตต่อเนื่อง

สำหรับอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญได้แก่ การพุ่งขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย โดยในภาวะปกติการพุ่งขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยมักจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายของวัฏจักรการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่มีสำหรับการขาย เนื่องจากการล็อคดาวน์และแนวโน้มการ work-from-home ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำช่วยกระตุ้นความต้องการในการซื้อที่อยู่อาศัย

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 สาเหตุที่กล่าวมานี้ มักจะแสดงถึงการเติบโตที่ร้อนแรงของเศรษฐกิจ กล่าวคือ ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจึงปรับตัวขึ้น และผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายสูง จึงซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้น  ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกันนี้ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ส่งผลให้ bond yield ของสหรัฐขยับขึ้นต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงแนวโน้มที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ถึงแม้ประธานเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ก็ตาม  ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสาเหตุที่ส่งผลให้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดูดีแล้ว จะพบว่าอาจเป็นเพียงภาพลวงเท่านั้น โดยการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (Cost push inflation)  ในขณะที่ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงแข็งแกร่งไม่ได้มาจากรายได้จากการทำงานเป็นหลัก  ดังนั้น หากกลุ่มโอเปกพลัสปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน เงินเฟ้อก็อาจปรับตัวลดลง และหากรัฐบาลสหรัฐไม่จ่ายเงินเยียวยาอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็อาจจะชะลอตัวลง ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยอาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่อุปทานจะเพิ่มขึ้นสู่จุดที่สมดุล

การปรับตัวขึ้นของ bond yield ส่งผลให้การลงทุนในพันธบัตรซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีความน่าสนใจมากขึ้นจากผลตอบแทนที่สูงขึ้น  ในขณะที่การลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูง มีความน่าสนใจน้อยลงเนื่องจากราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นมามากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ 

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ดีแล้ว การปรับขึ้นของ bond yield ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้มีแนวโน้มมีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงมากเกินไป  นอกจากนี้การปรับลงของราคาหุ้นไม่ได้เกิดขึ้นในทุกตลาด และไม่ได้มาจากผลของการที่ bond yield ปรับขึ้นเพียงสาเหตุเดียว โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นกลุ่มที่ปรับตัวลงแรงจากแรงขายทำกำไรหลังราคาพุ่งขึ้นแรงต่อเนื่องตั้งแต่ในปีที่แล้ว และมีการย้ายเงินไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกลุ่มหุ้นที่ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นหรือปรับตัวขึ้นน้อย (laggard stock) ในขณะที่ตลาดหุ้นจีนร่วงลงในช่วงนี้เนื่องจากความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจใช้มาตรการคุมเข้มทางเศรษฐกิจ หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนแสดงความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินโลก และรัฐบาลจีนตั้งเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่สูงกว่า 6% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ 8-9%

ทั้งนี้ มีแนวโน้มที่เฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยหรือปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเปราะบาง จึงยังจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง  อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มที่ทั้งตลาดสินทรัพย์ลงทุนต่างๆจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆอาจส่งผลให้นักลงทุนตีความไปได้ทั้งในด้านดีและไม่ดี  ดังนั้นนักลงทุนจึงควรประเมินว่าท่านสามารถรับความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด และเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของท่านครับ