10 เรื่องเซอร์ไพรส์ที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินหลังจากนี้

10 เรื่องเซอร์ไพรส์ที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินหลังจากนี้

ผมเชื่อว่าตอนนี้ตลาดมั่นใจมากแล้วว่าชาวโลกจะได้กลับไปเป็นปรกติในไม่ช้า 

แต่บ่อยครั้งการลงทุนไม่ได้เป็นไปตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงมักมีคำถามว่าอะไรคือเซอร์ไพรส์ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ ผมจินตนาการเรื่อง 10 เรื่องเซอร์ไพรส์อาจเกิดขึ้น เรียงตามลำดับก่อนหลัง พร้อมชวนคิดว่าถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรกับตลาดไปด้วยกัน 

  1. เศรษฐกิจดีเกินไป 

เป็นเซอร์ไพรส์แรกที่เราอาจเห็น เพราะทุกประเทศจะคลายล็อคดาวน์บนนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมาก น่าสนใจที่สุดคงไม่พ้นสหรัฐซึ่งใช้นโยบายการคลังเยอะที่สุดในกลุ่ม Developed Markets (DM) ด้วยสภาพคล่องที่เหลือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 2ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว และอีกอย่างน้อย 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในปี อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวมากกว่าทั่วโลกในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

 ถ้าเกิดขึ้นดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่ากลับ สวนกับมุมมองของทุกคนในตลาดปัจจุบัน 

  1. การเมืองระหว่างประเทศสามัคคีกันเกินไป

 จุดสังเกตุคือเริ่มเห็นสหรัฐกลับเข้าหลายกลุ่มพันธมิตร แม้เบื้องต้นไม่มีอะไรใหม่ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูความร่วมมือระหว่างประเทศตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จะพบว่าความสามัคคีของกลุ่มของสหประชาชาติไม่ว่าจะเป็น UN World Bank IMF WTO มักก่อให้เกิดกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและเกิดกฎเกณฑ์การทำธุรกิจให้เข้มงวดขึ้นได้ 

ถ้าเกิดขึ้นอาจเห็นการลงทุนเริ่มไหลมาถึง Emerging Markets (EM) แต่บางธุรกิจเช่นพลังงาน หรือบางประเทศเช่นจีน อาจถูกจับตาเป็นพิเศษ 

  1. ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนลดลง

 ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในโลกการเมือง และที่จริงก็มีสิ่งที่ทั้งคู่ได้ประโยชน์ เช่นการลดเพดานภาษี (แท้จริงแล้วผู้จ่ายภาษีก็คือผู้ประกอบการของสหรัฐเอง) แลกกับการที่จีนเปิดประเทศหรือปฏิบัติตามเกณฑ์ของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐมากขึ้น

 ถ้าตกลงกันได้ เงินหยวนจะแข็ง เงินทุนไหลเข้าเอเชีย แต่จะเกิดการเปลี่ยนกลุ่ม (Rotation) จาก Technology ไป Cyclicals หนักยิ่งกว่าตอนนี้ 

  1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นไม่หยุด 

เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแรง ขณะที่หลายสินค้าโภคภัณฑ์ก็ผลิตไม่ทันหรือเลือกที่จะไม่เพิ่มกำลังการผลิตเพราะเป็นช่วงเปลี่ยนเทคโนโลยี

 ถ้าเกิดขึ้น จะเปลี่ยนความเชื่อในตลาดจาก Recovery เป็นกังวล Overheat  เศรษฐกิจ EM จะชะลอตัว และบางประเทศจะเจอกับความเสี่ยงบนเสถียรภาพทางการเงินและการคลังเล่นงาน   

  1. เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก (จริง) 

 Overheat เซอร์ไพรส์ต่อเนื่องจากสี่ข้อแรก เมื่อนโยบายการคลังเพิ่มรายได้ นโยบายต่างประเทศเร่งส่งออก ราคาสินค้าทุกอย่างฟื้นตัว ค่าเงินอ่อน ก็ครบส่วนผสมของเงินเฟ้อสูง สัญญาณเตือนแรกอยู่ที่สหรัฐ อาจเห็นเงินเฟ้อที่สูงกว่า 2.5% ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ส่วนความเสี่ยงอยู่ที่สกุลเงินประเทศ EM

 เซอร์ไพรซ์นี้จะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับฐาน ความผันผวนไม่ลดลง นักลงทุนต้องหนีไปสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อ Hedge เงินเฟ้อ หรือพักสินทรัพย์ปลอดภัย 

  1. การคลังบางส่วนพลิกไปเป็นเข้มงวด

 เซอร์ไพรซ์หักมุมแรก ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพราะนโยบายส่วนใหญ่การเมืองสามารถเปลี่ยนไปได้ตามจังหวะการเมืองเสมอ เช่นในจีนก็กังวลการเก้งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ยุโรปก็ต้องบริหารความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก สหรัฐก็เริ่มมีความพยายามที่จะ Balance งบกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขึ้นภาษี

 เซอร์ไพรส์นี้จะทำให้เกิดการ Rotation กลับด้าน ทุกอย่างจะย้อนกลับ ตลาดจะเปลี่ยนจาก Cyclical Value กลับไปเป็น Secular Growth 

  1. การเงินกลับทิศ ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ย

 เหนือความคาดหมายในมุมมองตลาด แต่สำหรับปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบเงินเฟ้อสูง หลังจากที่ทั่วโลกลดดอกเบี้ยรวมกันไปกว่า 16000bps ในปี 2020 ถ้าสกุลเงินของประเทศไหนอ่อนค่าหนักหรือยีลด์ปรับขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

 ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ ก็ต้องระวังแรงขายบอนด์และตลาดจะลดความเสี่ยงลงทันที 

  1. ฟองสบู่บิทคอยน์แตก 

เป็นผลสืบเนื่องมากจากหลายเซอร์ไพรส์ที่กล่าวมาข้างต้น คือต้องมีสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่กลับมาให้ผลตอบแทนได้ มีสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงไม่มีเครดิตให้เก็งกำไรแทน ผสมกับภาครัฐต้องอยากกำหนดและเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในตลาดนี้ขึ้นมา 

ย้อนกลับไปช่วงไตรมาสแรกปี 2018 ที่ฟองสบู่บิทคอยน์แตก จะพบว่าตลาดลดสินทรัพย์เสี่ยงลง สุดท้ายกลับไปถือแค่ Big Tech และ Defensive Growth ตามธีมเศรษฐกิจในช่วงนั้น 

  1. หนี้กลายเป็นสิ่งที่ตลาดกังวล 

เกิดได้จากเงินเฟ้อที่คุมไม่อยู่แม้ดอกเบี้ยจะขยับขึ้นแล้ว บวกกับมีฟองสบู่ทางการเงินแตก ส่งผลให้เกิดภาวะ Liquidity Shortage ผสมกับบางธุรกิจที่แม้จะเปิดทำการปรกติแล้วแต่กลับไม่มีผู้ใช้สินค้าหรือบริการกลับมา

 Spread ระหว่างยีลด์พันธบัตรรัฐบาลกับบอนด์เอกชนจะระเบิดสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 

  1. ธนาคารกลางกลับไปผ่อนคลายนโยบายการเงิน 

เซอร์ไพรส์สุดท้ายที่ไม่ต้องอธิบายมากเพราะเป็น Backstop ของตลาดการเงิน 

ถ้าเกิดขึ้นน่าจะหยุดความผันผวนส่วนใหญ่ลงได้ อย่างไรก็ดีโอกาสเกิดขึ้นไม่สูงอย่างที่ตลาดหวัง และคงต้องรอให้ทั้งเงินเฟื้อปรับตัวสูง การจ้างงานกลับมาระดับเดิม หรือความผันผวนพุ่งขึ้นผิดปรกติ

 ทั้งหมดคือเรื่องเซอร์ไพรส์ที่ผมคิดออกและน่าจับตา

 โดยรวมแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ Overheating Tightening และ Bubble Bursting บางเรื่องเกิดได้เอง บางเรื่องจะเกิดขึ้นได้ต้องมีเรื่องเซอร์ไพรส์หลายอย่างต่อเนื่องกัน และแน่นอน นอกจากนี้ก็อาจมีเรื่องเซอร์ไพรส์อย่างอื่นได้อีก

 เพื่อความไม่ประมาท ควรจำไว้เสมอว่าอย่าเชื่ออะไรทางเดียวมากเกินไป เพราะตลาดการเงินคือวัฏจักรของอารมณ์เหมือนกับ “เฉดของสีเทา” ไม่ใช่ขาวหรือดำ