อนาคตการใช้ชีวิตของคนไทย จากมุมมองของนักอนาคตศาสตร์

อนาคตการใช้ชีวิตของคนไทย จากมุมมองของนักอนาคตศาสตร์

นักอนาคตศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ศึกษาวิจัยโดยมุ่งที่จะหาคำตอบเพื่อกำหนดรูปแบบที่เป็นไปได้ของการใช้ชีวิตในอนาคตของคนไทยด้วยเทคนิค Foresight

เทคนิคการมองอนาคต (Foresight) เริ่มได้รับความสนใจที่จะเข้ามาแทนที่เทคนิคการพยากรณ์แนวโน้มอนาคต (Forecasting) สำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เนื่องจากการพยากรณ์อนาคตมักจะต้องอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเพื่อลากเส้นแนวโน้มในอนาคตต่อออกไป ด้วยความเชื่อว่า ผลจากการกระทำในอดีตจะเป็นตัวชี้สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต การวางแผนธุรกิจที่ผ่านมา จึงล้วนแต่อาศัยหลักการของการพยากรแนวโน้มแทบทั้งสิ้น

แต่ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและผันผวนของโลกในปัจจุบัน การพยากรณ์แนวโน้มอนาคตจากข้อมูลในอดีตมักจะเริ่มไม่ได้ผลแม่นยำเหมือนอดีตที่โลกค่อนข้างจะเติบโตไปตามแนวโน้มที่แน่นอนไม่หวือหวา

ภายใต้บริบทของประเทศไทย นักอนาคตศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ศึกษาวิจัยโดยมุ่งที่จะหาคำตอบเพื่อกำหนดรูปแบบที่เป็นไปได้ของการใช้ชีวิตในอนาคตของคนไทยด้วยเทคนิค Foresight โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ค่านิยม ความเป็นอยู่ ฯลฯ อย่างรอบด้าน ที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยโดยรวม

ความเปลี่ยนแปลง ที่มีนัยสำคัญเหล่านี้ ประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงใน 7 ด้าน ได้แก่ การเติบโตของสังคมเมือง สภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงถดถอย การเกิดวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่านิยมทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และการยอมรับและไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งในสังคมเมืองและในสังคมชนบท ในลักษณะที่ว่าคนไทยกำลังถูกเร่งให้ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์หรือแนวโน้มที่ก่อตัวขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นที่เริ่มมองเห็นได้บ้างแล้ว ที่นักอนาคตศาสตร์เรียกว่า สัญญาณความเปลี่ยนแปลงเช่น การเข้ามาของเทคโนโลยีสมาร์ทโฮม การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในด้านสุขภาพและการรักษาโรค เช่น การรักษาทางไกล การลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการรักษาของประชาชน อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของร่างการยเราได้

ความตระหนักในเรื่องการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวทั้งในด้านของผู้ให้ข้อมูลและผู้ถือครองข้อมูล การเชื่อมโยงและผสมผสานความแตกต่างทางสังคมและวิถีชีวิตให้กลมกลืนและอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว การจัดสรรและใช้ประโยชน์ของที่ดินร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนจากการซื้อมาเป็นการเช่าอยู่

ผลของวิกฤติโรคระบาด ทำให้ผู้คนคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาวะของตนเอง ทำให้แนวโน้มของการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ได้สร้างปัญหาด้านขยะและสิ่งแวดล้อมต้องกลับมาใหม่จากค่านิยมหรือวัฒนธรรมของการปกป้องตนเองและการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการเว้นระยะห่างทางสังคมที่กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาใหม่ไปแล้ว

โดยสิ่งที่จะเป็น ปัจจัยขับเคลื่อน หรือ ปัจจัยผลักดัน ไปสู่ภาพอนาคตหรือฉากทัศน์อนาคตต่างๆ ขึ้นอยู่กับทิศทาง อัตราเร็ว และการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการทางด้านสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และคุณค่าของชีวิต โดยฉากทัศน์อนาคตของการใช้ชีวิตของคนไทย แบ่งออกได้เป็น ภาพใหญ่ 4 ภาพ ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 ผู้คนทุกกลุ่มมีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต สังคมมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม ผู้คนไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรือความกังวลต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เศรษฐกิจมีการกระจายรายได้ทั่วถึง คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงปัจจัยที่จำเป็นในการใช้ชีวิต กิจกรรมประจำวันถูกปรับให้เข้ากับวิถีดิจิทัล ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

ฉากทัศน์ที่ 2 ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยสวัสดิการจากรัฐ โครงสร้างประชากรไม่สมดุลกับความสามารถทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง รัฐจำเป็นต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการเครือข่ายดิจิทัล แต่ก็เป็นไปในลักษณะเน้นปริมาณให้ทั่วถึง แต่ไม่เน้นคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนได้ ผู้คนมีค่านิยมเลือกหาของถูกมากกว่าต้องการของดี

ฉากทัศน์ที่ 3 มือใครยาวสาวได้สาวเอา เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีระดับสูงแต่ต้องได้มาด้วยต้นทุนที่สูง ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานและความสะดวกสบายจากอุปกรณ์ดิจิทัลอัจฉริยะต่างๆ จะต้องมีรายได้สูง ผู้คนมีความคิดว่า เงินคือพระเจ้า ผู้มีอิทธิพลและชนชั้นแนวหน้าได้รับการยอมรับทางสังคมมากกว่าผู้มีรายได้น้อย

ฉากทัศน์ที่ พลเมืองชั้นฐานล่างของปิรามิด สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ เทคโนโลยีอาจพัฒนาไปไกลแต่เป็นการพัฒนาเพื่อการค้าเข้าถึงได้ด้วยต้นทุนสูง ผู้คนต้องดิ้นรนด้วยตนเอง ความเป็นอยู่และที่อยู่อาศัยตอบความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่สามารถยกระดับชีวิตให้คนอื่นๆ ได้อย่างทั่วถึง ผู้คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำ ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเอง

เทคนิคการมองอนาคต สามารถสร้างฉากทัศน์ต่างๆ จากปัจจัยที่สร้างผลกระทบและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้เกิดจากการพยากรณ์ทางสถิติจากอดีต ฉากทัศน์เหล่านี้ จะนำมาเป็นแนวทางในการสร้างอนาคตที่พึงประสงค์สำหรับผู้บริหารทั้งในภาคสังคม ภาครัฐ และภาคธุรกิจ

โดยภาคธุรกิจอาจนำฉากทัศน์การใช้ชีวิตของคนไทยทั้ง 4 มาวิเคราะห์ว่า หากฉากทัศน์ใดจะกลายมาเป็นอนาคตการใช้ชีวิตของคนไทยที่เป็นจริงหรือใกล้เคียงความจริงในอนาคตแล้ว สินค้าและบริการในปัจจุบันของท่านจะยังคงตอบโจทย์ของตลาดได้อยู่หรือไม่ หากไม่ได้ ท่านเตรียมรับอนาคตในฉากภาพเหล่านั้นอย่างไร

นักอนาคตศาสตร์ จะมีหน้าที่เพียงฉายภาพทางเลือกของอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่การนำพาธุรกิจของท่านไปสู่ตลาดและผู้บริโภคในอนาคต เป็นการตัดสินใจของท่านเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูงที่จะเป็นผู้กำหนดว่าจะเลือกเส้นทางใดไปสู่อนาคตที่ท่านเห็นว่าจะเกิดขึ้นล่วงหน้า

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นความร่วมมือจาก สถาบันการมองอนาคต สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ภายใต้ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)

ท่านผู้อ่านเข้าถึงรายงานฉบับเต็มได้ที่ เว็บไซต์ของสถาบันการมองอนาคต www.ifi.nia.or.th โดยใช้คำสืบค้น “Future of Living”