เราจะลดช่องว่างระหว่าง 'ศาสนา' กับ 'ประชาชน' ได้อย่างไร

เราจะลดช่องว่างระหว่าง 'ศาสนา' กับ 'ประชาชน' ได้อย่างไร

รายงานผลสำรวจความเห็นประชาชน โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ชี้ว่าประชาชนกว่า 60% เห็นด้วยกับข้อความ “ชาวไทยพุทธห่างไกลศาสนา”

รายงานผลสำรวจความเห็นประชาชนดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างศาสนากับประชาชนที่สังคมเรามีขณะนี้ พอดีอาทิตย์ที่แล้วผมมีโอกาสให้สัมภาษณ์ทีมงานของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นที่ผมให้ไปให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

 เมื่อเราพูดถึงศาสนา เราจะนึกถึงวัด เพราะตั้งแต่ในอดีตวัดมีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะศูนย์กลางของชุมชน ทำหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนในสังคม แต่ในโลกปัจจุบัน บทบาทดังกล่าวดูจะถูกลดทอนลงและมีความท้าทายมากขึ้นจากลักษณะของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป และผลส่วนหนึ่งที่ตามมาคือ ช่องว่างระหว่างศาสนากับประชาชนที่มีมากขึ้น เป็นเรื่องที่ค่อยๆ เกิดขึ้นและสะสมมาต่อเนื่องจากหลายสาเหตุ ซึ่งที่สำคัญคือ

 1.ผลจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่สถานการณ์เศรษฐกิจสร้างแรงกดดันต่อคนในสังคมทั้งในเรื่องความเป็นอยู่และการใช้ชีวิต ระบบทุนนิยมที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยความเป็นเสรีและกลไกตลาดก็เน้นการแสวงหากำไรสูงสุด ทำให้คนแข่งขันกันมากเพื่อความอยู่รอด จนต้องทำเพื่อตนเองมากกว่าเพื่อสังคม ที่สำคัญการเติบโตของระบบทุนนิยมถูกขับเคลื่อนโดยลัทธิบริโภคนิยมที่ทำให้คนในสังคมบริโภคเกินความจำเป็น เช่น มีบ้านหลายหลัง มีรถยนต์หลายคัน สิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนความกระหายที่จะบริโภค ที่จะสะสม ทำให้มุ่งแต่จะหาเงินเพื่อใช้เงินบริโภคสิ่งเหล่านี้ จนไม่มีเวลาให้กับเรื่องอื่น รวมถึงศาสนา บางครั้งความต้องการอยากบริโภค อยากมี อยากรวย นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรมและไม่เกรงกลัวต่อบาป ประชาชนจึงยิ่งห่างไกลศาสนามากขึ้น

 2. สถาบันสงฆ์หรือพระสงฆ์ ที่ต้องรักษาศรัทธาที่ประชาชนมีต่อพระพุทธศาสนา ทั้งในเรื่องความรู้ของพระสงฆ์ที่จะเผยแพร่ธรรมให้ประชาชนเข้าใจ สามารถสั่งสอนชี้ทางและตอบคำถามประชาชนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาได้ เพื่อให้ประชาชนเลื่อมใสศรัทธา นอกจากนี้การปฏิบัติตนของพระสงฆ์ การรักษาวินัย ความสำรวม การอยู่ในทำนองคลองธรรมก็สำคัญมาก เพราะจะทำให้ประชาชนศรัทธาทั้งต่อตัวพระสงฆ์เองและต่อสถาบันสงฆ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความเข้มแข็งที่ต้องรักษาไว้ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

3. การมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ตั้งแต่ในอดีตหมายถึง 2 เรื่อง คือ บทบาทของวัดที่จะตอบสนองความต้องการของสังคม เช่น การสืบสานศาสนประเพณี การเป็นจุดรวมใจของสังคม การให้ความรู้ ส่วนอีกด้านคือ บทบาทของวัดในการช่วยเหลือสังคม ให้ประชาชนรู้สึกว่าวัดเป็นที่พึ่งได้ มีประโยชน์และสามารถช่วยเหลือสังคมได้เมื่อประชาชนเดือดร้อน เหมือนเป็นระบบประกัน หรือระบบช่วยเหลือสังคม (Social Safety Net) ให้กับสังคมอย่างกลายๆ

 สองบทบาทนี้ ทำให้วัดในอดีตเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน และประชาชนพร้อมสนับสนุนบริจาคเงินช่วยเหลือกิจการวัดด้วยความศรัทธา ซึ่งความศรัทธานี้เกิดขึ้นจาก ความเชื่อถือความไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของวัดและในการบริหารจัดการวัด  ซึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน ความไว้วางใจดังกล่าวจะมาจากการบริหารจัดการวัดที่เป็นระบบ โปร่งใสและตรวจสอบได้ คือ มีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ที่จะรักษาความเลื่อมใสและศรัทธาที่ประชาชนมีต่อวัด ตรงกันข้าม ถ้าทำไม่ได้ ประชาชนไม่ไว้วางใจ แรงสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะน้อยลง ทำให้ประชาชนและศาสนายิ่งห่างกันมากขึ้น

 นี่คือ 3 เหตุผลที่ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ช่องว่างระหว่างศาสนาและประชาชนเพิ่มมากขึ้น และถ้าจะลดช่องว่างนี้ เราต้องทำกลับทางในทั้ง 3 เรื่องเพื่อชะลอแนวโน้มหรือลดช่องว่างที่กำลังเกิดขึ้น

 ในเรื่องเศรษฐกิจและระบบทุนนิยม หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข เพราะเป็นเรื่องของระบบ ที่ต้องตระหนักคือ แนวคิดดั้งเดิมของระบบทุนนิยมไม่ได้มองทุนนิยมเป็นสิ่งเลวร้าย แม้พื้นฐานของระบบทุนนิยมจะเน้นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ อดัม สมิธ บิดาของระบบทุนนิยมเมื่อ 245 ปีก่อนเคยให้ความเห็นว่า มนุษย์เราโดยธรรมชาติลึกๆ แล้วจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจนี้จะทำให้คนเรามีความยับยั้งชั่งใจในการตัดสินใจ ทำให้การแสวงหาประโยชน์ส่วนตนในระบบทุนนิยม สามารถนำไปสู่ประโยชน์ต่อส่วนรวมได้

 นี่คือความหวังแม้ระบบทุนนิยมในปัจจุบันจะสร้างปัญหามาก เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มมีให้เห็น เช่น ในระดับธุรกิจ เราเห็นแนวโน้มที่บริษัทเอกชนให้ความสำคัญมากขึ้นในเรื่องธรรมาภิบาล มองยาวและให้ความสำคัญในเรื่องผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สนใจเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ และไม่ปฏิเสธบทบาทบริษัทธุรกิจที่ควรมีต่อสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นแนวโน้มที่ดีที่จะทำให้ระบบทุนนิยมมีความยั่งยืน ในระดับบุคคล เราก็ต้องตระหนักว่าเวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ที่เราควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนอื่น ไม่ใช่หมดเวลาไปกับการหาเงินเพื่อบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็นเพราะวันหนึ่งเราก็จะจากโลกนี้ไป ถ้าทำได้แรงกดดันต่อตนเองและต่อการใช้ทรัพยากรของสังคมก็จะลดลง เราก็จะมีเวลามากขึ้นที่จะใกล้ชิดศาสนา ลดช่องว่างระหว่างศาสนากับประชาชน

 สำหรับประเด็นพระสงฆ์ ความสำคัญของประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ตระหนักมาแต่อดีตกาล เห็นได้จากการให้ความสำคัญในเรื่องพระธรรมวินัย และ การแสวงหาความรู้เพื่อช่วยพระสงฆ์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา  ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญต้องทำต่อไป เพื่อความยั่งยืนของพระพุทธศาสนา

 ในประเด็นการบริหารจัดการ การบริหารจัดการวัดอย่างเป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ คือ บริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล เป็นการคาดหวังสำคัญที่สังคมในปัจจุบันมองหา ทำให้วัดที่ยังทำไม่ได้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างความเป็นระบบและความโปร่งใสในการบริหาร เช่น ระบบบัญชี ระบบการควบคุมภายใน การรายงานและการเปิดเผยข้อมูล เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมีและต้องทำจริงจัง ค่อยๆ ทำจากเล็กไปใหญ่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

 ในประเด็นเรื่องนี้ การศึกษาเรื่อง “บทสังเคราะห์บทเรียนในเชิงหลักคิดและหลักปฏิบัติ : กรณีศึกษาเพื่อการขยายผลพัฒนากิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ของมูลนิธิหอจดหมายเหตุพระพุทธทาส อินทปัญโญ โดย น.พ.บัญชา พงษ์พานิชและคณะ เป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์มาก เพราะชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างที่ดีของวัดในประเทศไทย ทั้งวัดขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ในเขตเมืองและชนบท ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดีในการทำหน้าที่ เช่น หน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา การสืบสานศาสนประเพณี และการบริหารจัดการศาสนสมบัติ  ทำได้ดีและสามารถเป็นตัวอย่างให้กับวัดอื่นๆ ได้ ในเรื่องนี้มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กำลังศึกษาและเรียนรู้จากผลการวิจัยดังกล่าว เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการวัด เพื่อให้วัดอื่นๆ ในประเทศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้าง

 นี่คือช่องว่างที่มีที่ต้องยอมรับและเราก็เห็นทางออกที่เป็นไปได้ที่จะช่วยลดช่องว่างเหล่านี้ เป็นภาระหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกันโดยวัดและประชาชน เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา และ ความสงบสุขของสังคม

 ผู้อ่านที่สนใจ และ/หรือ อยากช่วยเหลือ งานดังกล่าวสามารถติดต่อมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลได้ที่ [email protected] เผื่อเราจะมีโอกาสทำงานด้วยกัน.