ครบรอบ 10 ปีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

ครบรอบ 10 ปีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

ครบรอบ 10 ปีของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554

ปีนี้จะครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์อุบัติเหตุสารกัมมันตรังสีรั่วไหลครั้งร้ายแรงจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ อันมีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิในภูมิภาคโทโฮคุเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554  เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ทั้งในญี่ปุ่น ส่งผลให้ในช่วง10 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นนั้นลดลงมาก ในช่วงก่อนเกิดอุบัติเหตุนั้น ประมาณร้อยละ 25 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตทั้งหมดที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นมาจากพลังงานนิวเคลียร์ แต่เมื่อปี 2561 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น โดยสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ที่ลดลงนั้นถูกแทนที่ด้วยแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทน 

อย่างไรก็ตาม ตามนโยบายด้านพลังงานของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นมีแผนเพิ่มสัดส่วนการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานทดแทน โดยภายในปี 2573  ญี่ปุ่นตั้งเป้าให้ร้อยละ 20 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดมาจากพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 20 เช่นกัน 

ทำไมญี่ปุ่นจำเป็นต้องย้อนกลับมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ คำตอบของคำถามนี้อยู่ในหลักการทางด้านพลังงานของญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วย ความมั่นคงทางด้านพลังงาน (Energy Security) ความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) สิ่งแวดล้อม (Environment) และความปลอดภัย (Safety) ซึ่งเรียกรวมกันว่าหลัก 3E + S    

ความมั่นคงทางด้านพลังงาน (Energy Security)ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทรัพยากรด้านพลังงานน้อย เดิมที ญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาพลังงานบางส่วนจากพลังงานนิวเคลียร์เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศและกระจายความเสี่ยงเรื่องการจัดหาแหล่งพลังงาน แต่หลังอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ โรงงานพลังไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องหยุดดำเนินการและทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงนั้นยิ่งกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ปัจจุบันญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงเกินร้อยละ 70  ซึ่งเชื้อเพลิงเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน การใช้พลังงานนิวเคลียร์จะช่วยกระจายความเสี่ยงในส่วนนี้ได้ 

ความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency)ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน โดยภาพรวมค่าไฟฟ้าในญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้ในช่วงปี พ.ศ. 2557-2559 จะมีการปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ถูกลง แต่ปัจจุบันค่าไฟฟ้าในญี่ปุ่นก็ยังแพงกว่าค่าไฟในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นปีก่อนการเกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะอยู่ประมาณ 20% โดยมีสาเหตุที่สำคัญอันเนื่องมาจากการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนอื่นแทนที่พลังงานนิวเคลียร์ 

กล่าวคือ การพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากปัจจัยในเรื่องความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกเป็นอย่างมาก ในขณะที่การสนับสนุนพลังงานทดแทนอื่นนั้นก็มีต้นทุนที่สูงกว่าพลังงานนิวเคลียร์มากเช่นกัน เพราะในการสนับสนุนพลังงานทดแทน ญี่ปุ่นได้นำระบบ FIT (Feed-in Tariff) มาใช้กับไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานทดแทน โดยจะมีการกำหนดราคาซื้อไฟฟ้าตามราคาตายตัวที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ระบบ FIT นั้น เป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก รวมทั้งมีบริษัทไทยจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปลงทุนในโปรเจคพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นเนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ในขณะเดียวกันราคาซื้อที่สูงนั้นก็เป็นตกเป็นภาระโดยอ้อมของภาคธุรกิจและประชาชน ดังนั้น การทำให้พลังทดแทนเป็นที่แพร่หลายพร้อมกับการพยายามควบคุมไม่ให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงเกินไปจึงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล นอกจากการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ในการลดต้นทุน ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการนำระบบใหม่ที่เรียกว่า FIP (Feed-in Premium) เข้ามาแทนที่ FIT (Feed-in Tariff) เพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดพลังงานระหว่างพลังงานทดแทนกับพลังงานจากแหล่งอื่น ๆ และลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าในภาพรวม 

สิ่งแวดล้อม (Environment) ในขณะนี้ ประเทศทั่วโลก รวมถึงญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือจากพลังงานทดแทนประเภทอื่น ๆ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์นั้นถูกมองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิง เนื่องจากก่อให้เกิด CO2 น้อยกว่า 

ความปลอดภัย (Safety) ปัจจัยด้านความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญเดียวที่ยังส่งผลให้มีการชะลอการเพิ่มสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นประจำหลากหลายประเภทมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยธรรมชาติและการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นความท้าทายของญี่ปุ่นอย่างมาก โดยภาครัฐได้มีความพยายามออกกฎหมายมาเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 

สำหรับนักลงทุนชาวไทย จึงเป็นที่น่าสนใจว่าแนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางกลับมาพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ที่จะเดินหน้าจะควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนนี้ จะส่งผลต่อโอกาสและความน่าสนใจในการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนในญี่ปุ่นของบริษัทไทยด้วยมากน้อยหรือไม่เพียงใด.