เรื่องของมาร์จิ้น (Margin)

เรื่องของมาร์จิ้น (Margin)

กลไกหนึ่งของการซื้อขายใน TFEX ที่แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นคือเรื่องจำนวนเงินที่ต้องใช้เมื่อเริ่มต้นซื้อขาย

ผู้ลงทุนไทยส่วนใหญ่มักจะคุ้นชินกับการลงทุนในหุ้น ซึ่งในการซื้อหุ้นแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินเต็มจำนวน โดยผู้ซื้อต้องชำระเงินในวันที่ T+2 ก็จะได้รับหุ้นมาเป็นเจ้าของ แต่สำหรับการซื้อขายในตลาด TFEX นั้น ในกรณีของฟิวเจอร์ (Futures) ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะใช้เงินทุนเพียงบางส่วนของมูลค่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเรียกว่า มาร์จิ้นมาวางเป็นหลักประกันเท่านั้น เนื่องจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นการทำสัญญาซื้อขายโดยตกลงราคาจำนวนและเงื่อนไข ณ วันซื้อขาย แต่การชำระราคาและส่งมอบจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีแต่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อสัญญาสิ้นสุดอายุ ดังนั้น จึงไม่ได้มีการชำระเงินและส่งมอบกันทันที  

เงินประกัน หรือมาร์จิ้น (“Margin”) ใน TFEX มีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ IM และ MM โดย IM หรือ Initial Margin คือ ระดับเงินประกันขั้นต้นที่ผู้ลงทุนต้องมีในบัญชี TFEX ที่เปิดกับโบรกเกอร์ก่อนจึงจะส่งคําสั่ซื้อขายได้ IM นี้ทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าคู่สัญญาทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขายจะทำตามเงื่อนไขในสัญญาที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หลังจากที่ซื้อขายแล้ว โดยโบรกเกอร์จะมีการปรับสถานการลงทุนของผู้ลงทุนให้เป็นปัจจุบันทุกวัน หรือพูดง่ายๆ คือจะคำนวณกำไรขาดทุนจากการถือครองสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของทั้งฝั่งผู้ซื้อผู้ขายทุกวันทำการ ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่าMark To Market โดยในกรณีที่กําไร เงินกําไรจะถูกโอนเข้าไปในบัญชี TFEX ของผู้ลงทุน ในทางตรงข้าม หากคำนวณแล้วพบว่าเป็นผลขาดทุน เงินประกันก็จะถูกหักออกไปจากบัญชี ทั้งนี้ ในกรณีที่เงินประกันที่มีในบัญชีเหลือตํ่ากว่าระดับMM (Maintenance Margin) หรือเงนประกันรักษาสภาพ ผู้ลงทุนจะถูกเรียกให้มาเติมเงิน หรือ Margin Call ซึ่งก็คือการให้นำเงินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น เพื่อให้ระดับเงินประกันในบัญชีลับไปเท่ากับระดับ IM แต่ในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่สามารถนำเงินประกันมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มได้ ก็จะโดนบังคับให้ปิดสถานะ เพื่อรับรู้กำไรขาดทุนจริง ณ จุดดังกล่าว ดังนั้น สำหรับการซื้อขายใน TFEX การติดตามสถานะของเงินประกันในพอร์ต และการบริหารจัดการเงินประกันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งไม่ควรซื้อหรือขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในจำนวนที่มากเกินไป(Overtrade) โดยไม่มีเงินเผื่อสำหรับการวางหลักประกันเพิ่มในกรณีที่ถูกเรียกให้มาเติมเงินประกัน 

ระดับเงินประกันของสินค้าใน TFEX นั้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้า ขึ้นอยู่กับความผันผวนของราคาสินค้าอ้างอิงและมูลค่าของสัญญา โดยหากราคาสินค้าอ้างอิงมีความผันผวนสูง เงินประกันที่เรียกเก็บก็จะสูง และหาเป็นสัญญาที่มีขนาดใหญ่ มูลค่าของสัญญาสูง เงินประกันที่เรียกเก็บก็จะสูงเช่นกัน เช่น เงินประกันของ 50-Baht Gold Futures อยู่ที่ระดับ 63,350 บาทต่อสัญญา ส่วน 10-Baht Gold Futures ซึ่งมีมูลค่าสัญญาเล็กกว่า 5 เท่า ก็จะมีเงินประกันอยู่ที่ประมาณ 12,670 บาทต่อสัญญา เป็นต้น

ในการกำหนดระดับเงินประกันของ TFEX นั้น สำนักหักบัญชี (TCH) หรือ Thailand Clearing House จะเป็นผู้คำนวณและประกาศอัตราเงินประกัน โดย TCH จะพิจารณาจากความผันผวนของราคา และมูลค่าสัญญา (ซึ่งเปลี่ยนแปลงตามระดับราคา) หากปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมากถึงระดับหนึ่ง TCH จะประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราเงินประกัน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ของตลาดสินค้าอ้างอิง ทั้งนี้ อัตราที่TCH กำหนด จะเป็นอัตราที่ TCH เรียกเก็บจากโบรกเกอร์ แต่ในส่วนของผู้ลงทุนนั้น โบรกเกอร์จะเรียกเก็บเงินประกันขั้นต้น (IM) ในจํานวน 1.75 เท่าของอัตราเงินประกันที่ TCH กำหนด เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุน  

ในกรณีที่มีการซื้อขายเฉพาะฟิวเจอร์(Futures) นั้น การคำนวณมาร์จิ้นจะค่อนข้างง่ายโดยดูจากอัตราเงินประกันต่อสัญญาที่โบรกเกอร์ประกาศและคูณด้วยจำนวนสัญญาที่ซื้อขาย ซึ่งกำหนดให้ทั้งผู้ซื้อหรือ Long Futures และผู้ขายหรือ Short Futures จะต้องวางเงินประกัน เนื่องจากราคาฟิวเจอร์มีโอกาสเปลี่ยนแปลงทั้งด้านขาขึ้นและขาลง ดังนั้น ผู้ซื้อและผู้ขายฟิวเจอร์ต่างก็มีโอกาสขาดทุนเช่นกัน จึงต้องกำหนดให้มีการวางเงินประกันทั้งคู่  อย่างไรก็ตาม ในกรณีเป็นการซื้อขายเฉพาะออปชั่น (Options) ซึ่งเป็นสัญญาสิทธินั้น จะเริ่มมีความแตกต่างออกไป โดยผู้ซื้อOptions จะต้องจ่ายค่าพรีเมี่ยม แต่ไม่ต้องวางเงินประกันเพิ่มอีก เนื่องจากโอกาสขาดทุนสูงสุดคือค่าพรีเมี่ยมหากไม่ได้ใช้สิทธิ แต่ฝั่งผู้ขาย Options จะต้องวางเงินประกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการที่ราคาออปชั่นเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าราคาพรีเมี่ยม  

การคำนวณมาร์จิ้นจะเริ่มซับซ้อนมากขึ้น เมื่อมีการถือครองสถานะ Futures และ Options รวมกันอยู่ในพอร์ต เพราะการคํานวณเงินประกันจะต้องรวมสถานะทั้งพอร์ตเข้าด้วยกัน โดยหลักการคำนวณมาร์จิ้นของพอร์ตจะคิดมาจากผลขาดทุนสูงสุดของพอร์ตอันเกิดจากการที่ราคาและความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปตามสมมติฐานที่สำนักหักบัญชีกำหนด ในกรณีเช่นนี้ทำให้การคาดการณ์เงิน Margin ที่ต้องใช้ในการลงทุนอาจมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจต้องใช้การสอบถามจากโบรกเกอร์หรือใช้ฟังก์ชั่น Margin Simulation ใน Settrade Streaming ForPC เพื่อจะช่วยคำนวณเงินประกันที่ต้องใช้ก่อนซื้อขาย โดยเมื่อใส่ข้อมูลสถานะการถือครองในพอร์ตที่มี และสถานะที่ต้องการซื้อหรือขายเพิ่มเติม เข้าไปในฟังก์ชั่นนี้ ก็จะทราบข้อมูลทั้งเงินประกันของพอร์ตลงทุนปัจจุบันและเงินประกันของพอร์ตลงทุนหลังจากเพิ่มสถานะใหม่ที่ต้องการซื้อขาย รวมถึงส่วนต่างจำนวนเงินประกันที่ต้องใช้เพิ่มเติม ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ซื้อขายใน TFEX สามารถบริหารจัดการเงินประกันได้อย่างเหมาะสมก่อนตัดสินใจซื้อขาย

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของผู้งทุน TFEX อยู่ระหว่างการพัฒนา Website เพิ่มเติมเพื่อนำเครื่องมือ Margin Simulation มาให้ผู้สนใจสามารถใช้งานได้ผ่านทาง Website ของ TFEX อีกช่องทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลอัตราเงินประกัน รวมถึงเทคนิคการบริหารเงินประกัน สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโบรกเกอร์ที่ใช้บริการหรือที่เว็บไซต์ www.tfex.co.th