บอลข่านแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บอลข่านแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกเหนือจากการสกัดกั้นการขยายตัวของพรรค NLD แล้ว การก่อปฏิวัติในเมียนมารอบนี้เป็นไปตามความเชื่อขั้นอนุรักษ์ของขุนศึกที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น

นอกเหนือจากการสกัดกั้นการขยายตัวของอิทธิพลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) แล้ว การก่อปฏิวัติในเมียนมารอบนี้เป็นไปตามความเชื่อขั้นอนุรักษ์ของขุนศึกเมียนมาที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น ว่าทหารเท่านั้นคือผู้ที่รักษาแผ่นดินที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนี้ไว้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ต้องแตกแยกเป็นหลายรัฐหลายประเทศ และแฝงไว้ด้วยความคิดในใจลึกๆ ว่าสภาพการณ์ที่สร้างขึ้นนี้พลเมืองเมียนมาทุกคนจะได้ประโยชน์ ภายใต้ผู้ที่ได้ประโยชน์เหนือใครก็คือ “ชาวม่าน”
แต่สิ่งที่เขากำลังเผชิญเป็นสภาวะแวดล้อมแบบใหม่ที่ต่างจากปี 1988 กำปั้นเหล็กยุคนั้นอาจทำให้พม่าไม่ต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ ตามพฤตินัย แต่ยุคนี้จะได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกันหรือ

สภาพการณ์ที่มองกันว่าหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อาจลงเอยแบบยูโกสลาเวียยุคทศวรรษ 90 หากไม่มีอำนาจอัตตาธิปไตยอันทรงพลังคุ้มประเทศอยู่นั้น เป็นเพราะว่าแทบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ประกอบด้วยหลายชนเผ่า แต่ละพวกก็มีประวัติศาสตร์เคยมีรัฐเป็นของตนเองมายาวนาน แต่รัฐโบราณค่อยๆ โดนกลืนด้วยอาณาจักรใหญ่ที่ทรงอำนาจเมื่อ 200-500 ปี

อาณาจักรใหญ่เหล่านี้มีผู้ปกครอง ซึ่งยึดถือว่าชนเผ่าของตนมีสิทธิเหนือชนเผ่าอื่น การมาถึงของจักรวรรดินิยมทำให้เรื่องนี้ยุ่งเหยิงขึ้น เพราะใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง ถึงฝรั่งจะจากไปแต่ทิ้งมรดกความวุ่นวายไว้ เช่นให้รัฐเจ้าฟ้าไปรวมกับพม่า ขณะที่พม่าผู้เสียเชิงในอดีตก็ไม่ยอมปล่อยมือจากแผ่นดินเหล่านี้

นับตั้งแต่ที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม การปกครองประเทศแทบทุกรัฐเป็นแบบเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ บางครั้งเมื่อระบอบเผด็จการล่ม อย่างเช่น Suharto เมื่อปี 1998 ความวิตกก็มาสู่คนที่คิดว่าอินโดนีเซียต้องแตกออกเป็นอย่างน้อย 5-6 ประเทศเป็นแน่ แต่ในความเป็นจริงมีแค่ติมอร์เลสเตเท่านั้นที่ได้เอกราช ขณะที่รัฐบาลกลางของอินโดนีเซียใช้ทุกวิธีฝีมือ ทำให้จนถึงบัดนี้อาเจะห์กับอิเรียนจายา ยังคงรวมอยู่ในสาธารณรัฐแห่งนี้ เมียนมาจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่

พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก่อปฏิวัติในยุคดิจิทัลถือว่าโคตรเสี่ยง จะใช้วิธีฆ่าปิดปากแบบปฏิวัติอดีตไม่ได้ ปิดสื่อยังไงโลกก็รู้หมด จึงต้องใช้วิธีแบบที่เลียนแบบใครก็ไม่รู้ คือผ่อนปรนไม่ปะทะไปเรื่อย ใช้กระบวนการทางศาลจัดการฝ่ายตรงข้าม และใช้ปฏิบัติการข่าวสารเข้าสู้กับกระแสปลุกปั่นความคิดต่อต้านเผด็จการ แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องเหนื่อยต้องเกร็งกันไปถึงเมื่อใด วันใดเกิดเหตุการณ์นองเลือดสเกลใหญ่กว่าที่มัณฑะเลย์เมื่อ 20 ก.พ.2021 ก็อาจเอาไม่อยู่

แต่ถ้าใครคิดว่าจะมีคนช่วยชาวบ้านยืนหยัดต่อสู้กับทหารเมียนมาแบบที่เกิดขึ้นกับเคิร์ดหรือโคโซโว ขอทำนายไว้เลยว่าอย่าหวัง เพราะไม่มีชาติใหญ่ที่เสียผลประโยชน์อย่างหนักในปัญหาภายในของเมียนมา ขณะที่ติมอร์เลสเตเกิดขึ้นได้เพราะออสเตรเลียเป็นห่วงผลประโยชน์ของตน บอสเนียกับโคโซโวเกิดขึ้นได้เพราะพลังยุโรปบีบสหรัฐ รัฐบาลวอชิงตันสั่งบุกอิรักและอัฟกานิสถานก็เพราะผลประโยชน์ด้านน้ำมันและต่อต้านการก่อการร้าย แม้แต่มาลีหรือชาด ฝรั่งเศสอยากเล่นก็ต้องเล่นเอง ไม่ค่อยมีใครอยากช่วย แล้วกรณีเมียนมา ใครจะค้านรัฐบาลทหารอย่างแข็งขันเป็นรูปธรรมบ้าง

อาเซียนมีวิธีการนุ่มๆ ของอาเซียนที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในเมียนมาก็จริง แต่อาจส่งตัวแทนไปแตะๆ ไว้บ้างแบบไม่ให้ทหารเมียนมารู้สึกเสียหน้าหรือถูกบีบ โดยหวังให้มีความสงบโดยเร็ว อินเดียที่อาจได้ผลกระทบอยู่บ้างจากการเป็นเพื่อนบ้านก็ไม่มีทีท่าคัดค้านรุนแรง เมื่อขาดพันธมิตรสหรัฐจะไม่ยอมเสียเลือดเนื้อเปิดศึกกับเมียนมา ทั้งอาจหวังใจลึกๆ ว่าเมียนมากับจีนนั้นเข้ากันไม่ได้มากหรอก เพราะชาตินิยมเมียนมาย่อมระแวงจีน

การผลักตนเองออกจากตะวันตกก็จำเป็นต้องอิงจีน แต่จีนจะเชื่อถือได้ขนาดไหน เพราะคนเมียนมาก็รู้กันอยู่ว่าจีนหนุนกลุ่มชาติพันธุ์สร้างพื้นที่ให้จีนแสวงประโยชน์อย่างมหาศาล โดยกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ก็เริงร่า ไม่ยอมลงให้กับรัฐบาลกลาง พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย นั่นแหละที่เคยบ่นว่า “มีคนจีนสนับสนุนกบฏพวกนี้อยู่ แต่ทำยังไงได้ ถ้าไม่แบ่งผลประโยชน์ก็ต้องถมศพรบกัน” สภาพการณ์แบบนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่รัฐบาลทหารต้องการ มันไกลจากความฝันของพวกเขามากนัก แต่ก็จำต้องเดินทางนี้ต่อไป

นึกถึงรัสเซียเมื่อ ส.ค.1991 พรรคคอมมิวนิสต์ก่อรัฐประหารหมายหยุดยั้งประธานาธิบดี Mikhail Gorbashev ที่กำลังจะมอบอำนาจโซเวียตให้ Boris Yeltsin ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งในแคว้นรัสเซียอย่างถล่มทลาย พวกไดโนเสาร์หวังว่าจะทำให้โซเวียตเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนเดิมได้ แต่ประชาชนไม่เอาด้วยแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ชาวรัสเซียชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ผลคือรัฐประหารล้มเหลว รัฐมนตรีมหาดไทยต้องยิงตัวตาย เพราะประชาชนไม่เอาด้วย และยิ่งเป็นการเร่งให้ระบอบโซเวียตสูญสลายสิ้นเชิงภายในปีนั้น เมียนมากำลังจะเจริญรอยตามกงล้อประวัติศาสตร์นี้หรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไปครับ.