'ได้ทำ' กับ 'ได้ผล'

'ได้ทำ' กับ 'ได้ผล'

ยามที่ความสำเร็จของงานการหาได้ยากเย็น จะเป็นช่วงเวลาที่อาการหลงความสำเร็จจากการที่ได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด

ยิ่งถ้าบริหารกันมานานโดยปราศจากความสำเร็จที่เป็นที่ประจักษ์ ยิ่งทำให้มีการหยิบยกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามยถากรรมมากล่าวอ้างขึ้นเป็นความสำเร็จ แยกไม่ออกระหว่าง “ได้ทำ” กับ “ได้ผล” คนอื่นมองว่างานนี้แค่ได้ทำให้เกิดขึ้น แต่ตัวเองกลับยกขึ้นมากล่าวอ้างเป็นความสำเร็จ

 ประสิทธิผลเป็นตัวบอกว่าการงานที่ได้ทำลงไปนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ ทำงานได้ประสิทธิผล ไม่ใช่แค่ทำเสร็จ หรือทำด้วยประสิทธิภาพที่สูงขึ้น ชงกาแฟเสร็จ หรือชงกาแฟเสร็จเร็วขึ้น คนอาจจะชอบหรือไม่ชอบกาแฟที่ชงเสร็จ หรือชงเสร็จเร็วก็ได้ รสชาติและรูปแบบการให้บริการต่างหากที่บ่งบอกว่าการชงกาแฟครั้งนั้นประสบความสำเร็จ คือทำแล้วได้ผล ดังนั้นอย่ามัวแต่ถกเถียงกันเรื่องวิธีทำว่าถูกหรือไม่ถูกขั้นตอน แต่ให้ถกเถียงกันว่าแต่ละขั้นตอนการทำงานนั้นจะนำไปสู่สิ่งที่ตรงกับที่คนต้องการหรือไม่ 

ทำได้ผล คือทำแล้วได้ตรงกับที่คนรับบริการต้องการ มีความสอดคล้องกับเป้าหมาย โดยใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม จะรู้ได้ว่างานของเราได้ผลก็ต่อเมื่อเรารู้เป้าประสงค์ความต้องการของผู้รับบริการของการทำงานนั้นอย่างชัดเจน คือบอกได้ว่าที่จะทำนั้นทำเพื่ออะไร นึกภาพแห่งความสำเร็จตรงกันระหว่างคนทำกับคนรับบริการ นึกออกตรงกันว่าทั้งคนกินคนชงว่าชอบกาแฟแบบไหน เสิร์ฟอย่างไร  ถ้าไม่รู้เป้าประสงค์ ไม่รู้ความต้องการ คำว่า “ได้ผล” ไม่มี มีแต่ “ได้ทำ” 

“ได้ผล”เริ่มจากการที่สิ่งที่ได้ทำนั้นตรงกับเป้าหมายความต้องการของคนรับบริการมากที่สุดที่จะสามารถกระทำได้ แต่ยังตามมาด้วยการเลือกวิธีทำที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้ได้ตามที่ต้องการโดยใช้เวลาน้อยที่สุด ใช้คน ใช้แรงน้อยที่สุด เสิร์ฟกาแฟที่รสชาติถูกใจคนกิน โดยเสิร์ฟเร็ว ชงเร็ว ใช้คนเสิร์ฟคนเดียว ลูกค้าได้กาแฟถูกใจ ภายใต้การเสิร์ฟอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าความต้องการเปลี่ยนไป คือรสชาติมาที่สอง ได้เร็วมาเป็นที่หนึ่ง คำว่า “ได้ผล” คือต้องเสิร์ฟเร็วทันใจ ส่วนจะอร่อยแค่ไหนมาเป็นเรื่องที่สอง ถ้าได้วัคซีนเร็ว คือความต้องการ “ได้ผล” คือต้องมีวัคซีนครบถ้วนโดยเร็ว “ได้ทำ”คือจัดหาวัคซีนไปตามมีตามเกิด

 “ได้ผล” ยังต้องคิดถึงการใช้ทรัพยากร ใช้เงิน ใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานนั้นให้ตรงกับความต้องการของคนรับบริการอีกด้วย ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดเสมอ ไม่ว่าจะรวยแค่ไหนก็ตาม  ตัวอย่างที่มักเห็นกันเป็นประจำคือ ปฏิบัติการผักชีโรยหน้า ทุ่มเทเงินทอง ทุ่มเทแรงงานกันไม่อั้น เพื่อสนองความต้องการ โดยไม่แคร์ว่ายังมีอีกหลายหนทางที่ถูกกว่า ใช้แรงน้อยกว่าในการสนองความต้องการเดียวกันนั้น ต้องการเสิร์ฟกาแฟที่รสชาติถูกใจคนกิน เสิร์ฟเร็ว ชงเร็ว เลยไปซื้อเครื่องชงราคาสิบกว่าล้านมาใช้ ซึ่งถ้าคิดมากอีกสักนิดก็สามารถทำแบบเดียวกันได้ โดยใช้แค่สองสามล้านเท่านั้น มุ่งแต่ทำให้ได้ตามความต้องการ โดยไม่แคร์ค่าใช้จ่าย ไม่แคร์กับอะไรทั้งนั้น ไม่สามารถกล่าวได้ว่าทำงานอย่างมีประสิทธิผล

 “ได้ทำ” กับ “ได้ผล” ต่างกัน ดังนั้นจึงไม่สมควรที่ผู้บริหารจะมาติดตามแค่ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ทำแล้วหรือยัง พอเห็นว่าอันนี้ฉันก็ทำ อันนั้นฉันก็ทำ เลยป่าวประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่ ทั้งๆที่เป็นแค่ได้กระทำ ยังไม่รู้เลยว่าที่ทำไปแล้วสารพัดอย่างนั้น เป็นไปตามความต้องการของคนที่รับบริการนั้นหรือไม่ บางทีทำไปตามความต้องการของตนเอง ซึ่งเป็นความต้องการที่แตกต่างไปจากความต้องการของคนที่รับบริการโดยไม่รู้ตัว งานแบบนี้ไม่ว่าจะกระทำมากแค่ไหน ก็จะไม่มีสักงานที่จะ “ได้ผล”  เพราะทำตามความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ความต้องการของคนรับบริการ

 บ่อยครั้งที่เกิดความขัดแย้งในหมู่คนที่ทำงานร่วมกัน เพราะต่างคนต่าง “ได้ทำ” ตามที่ตนเองคิดว่าเห็นว่าเป็นความต้องการของผู้รับบริการ ถ้าต่างคนต่างตระหนักถึง  “ได้ผล” กันสักหน่อย ก็จะรู้ว่าอะไรที่ควรจะทำ อะไรไม่ควรจะกระทำ เว้นเสียแต่ว่าคนที่ร่วมกันทำงานเดียวกันนั้น ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำงานนั้นให้กับผู้รับบริการคนละคนกันเท่านั้น.