“เมกะโซลาร์ฟาร์ม” คำถามที่รอคำตอบ

“เมกะโซลาร์ฟาร์ม”  คำถามที่รอคำตอบ

ช่วง 1-2 สัปดาห์มานี้ กระแสผุดโครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่เรียกว่าเป็น “เมกะโซลาร์ฟาร์ม” ใน 2 โครงการขนาดใหญ่ ยังอยู่ในความสนใจของคนในแวดวงพลังงาน

โครงการแรกคือโซลาร์ฟาร์มพื้นที่ราชพัสดุของกองทัพบก(ทบ.) บนพื้นที่ 4.5 ไร่กระจายทั่วประเทศ ว่ากันว่า จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3 หมื่นเมกะวัตต์ แต่จะนำร่องศึกษาก่อนบนพื้นที่ 3,000 ไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ราว 300 เมกะวัตต์ และคาดหมายจะนำผลการศึกษาเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติโครงการในช่วงเดือน เม.ย.นี้ หากฉลุย! ก็พร้อมแจกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ภายในปีนี้ทันที

ส่วนอีกโครงการ คือ โซลาร์ฟาร์มพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป้าหมายระยะแรก ผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ และโครงการนี้ เกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 รองรับ ไม่จำเป็นต้องรอกระทรวงพลังงานออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า

ประเด็นที่คนให้ความสนใจ คือ เมกะโซลาร์ฟาร์มทั้ง 2 โครงการนี้ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Revision 1) มาก่อน อีกทั้งยังไม่เคยผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ

ขณะที่ ทางกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ ยังบอกว่าไม่รู้รายละเอียดทั้ง 2 โครงการนี้ พร้อมออกข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุชัดเจนว่า โครงการผลิตไฟฟ้าที่จะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้นั้น จะต้องเป็นโครงการที่ถูกบรรจุลงในแผนพีดีพีเท่านั้น ก็ยังเป็นคำถาม “คาใจ” หลายๆคน เพราะจนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไร้คำชี้แจงจากปากของ หัวเรือใหญ่กระทรวงพลังงาน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ทำไม! ภาคเอกชน ถึงรู้เรื่อง 2 โครงการนี้ก่อนกระทรวงพลังงาน และตบท้าวเตรียมเข้าร่วมเอี่ยว รวมถึงทั้ง 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ(รสก.)ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน อย่าง กฟผ.ที่ได้ลงนามเป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้โซลาร์ฟาร์มของกองทัพบก และปตท. ที่เตรียมนำระบบกักเก็บพลังงาน เข้าไปป้อนในโครงการนี้ ก็น่าฉุกคิดว่า ทั้ง 2 รสก.ได้รายงานต้นสังกัดก่อนหรือไม่

ไม่ว่า เมกะโซลาร์ฟาร์มทั้ง 2 โครงการ จะสื่อ!! อะไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ฝ่ายนโยบาย ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ กับ รัฐ ทั้ง 3 ส่วน คือ กระทรวงพลังงาน กองทัพบก และคณะกรรมการอีอีซี ยังขาดการประสานข้อมูลและบูรณาการทำงานร่วมกัน ก่อนที่จะมีการประกาศรายละเอียดโครงการที่ชัดเจนออกมา ถึงทำให้เกิดคำถาม คาใจคนวงการพลังงาน

แม้ล่าสุด กระทรวงพลังงาน จะเข้าไปหารือกับทางอีอีซีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่า โซลาร์ฟาร์มอีอีซี 500 เมกะวัตต์ จะเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบรรจุลงในแผนPDP หรือไม่ อย่างไร 

น่าฉุกคิด!! เมกะโซลาร์ฟาร์ม จะทำให้การกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศในอนาคต อาจนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานใหม่หรือไม่ เพราะเมื่อใคร หรือหน่วยงานใด ผุดไอเดียอยากสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น ก็สามารถเสนอโครงการมาให้กระทรวงพลังงาน เร่งบรรจุลงในแผนพีดีพีได้ตามใจชอบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงาน ประกาศเสมอว่า การกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ของประเทศล้นระบบ และต้องเร่งแก้ไข

ฉะนั้น หาก 2 โครงการนี้ จะเกิดขึ้น ก็คงต้องตอบคำถามสังคมให้เคลียร์ว่า กำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบจริงหรือไม่ และมีหลักประกันว่าจะไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในอนาคตอย่างไร